"น้ำตาล" เป็นส่วนผสมชนิดหนึ่งของอาหารและเครื่องดื่ม ที่พบได้ทั่วไปในปัจจุบัน ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ปริมาณน้ำตาลที่ควรบริโภคไม่ควรเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน แต่ในความเป็นจริง รายงานจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขพบว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลสูงถึงวันละ 28.4 ช้อนชาซึ่งสูงกว่าค่าแนะนำถึง 4.7 เท่า
ส่วนใหญ่มาจากเครื่องดื่มนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็น ชานมไข่มุก กาแฟเย็น ชาเย็น นมเย็น เป็นต้น และจากสำรวจเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมพบว่า การบริโภคเครื่องดื่มหวานเพียง 1 แก้ว ก็ได้รับน้ำตาลมากกว่าที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน เพิ่มความเสี่ยงโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด การศึกษาวิจัยยังพบว่าการบริโภคน้ำตาลในปริมาณสูงมีความสัมพันธ์กับการ "เกิดริ้วรอยและแก่ก่อนวัย" ซึ่งไม่ได้เกิดแค่กับเฉพาะเซลล์ผิวหนังเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับเซลล์บริเวณอวัยวะต่างๆ ในร่างกายด้วย
ผิวหนังของคนเรามีโปรตีนคอลลาเจนและอีลาสตินเป็นองค์ประกอบหลัก ช่วยให้ผิวมีความแข็งแรงและยืดหยุ่น ในกรณีที่บริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง น้ำตาลเหล่านั้นถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว ทำให้ระดับน้ำตาลที่บริเวณผิวหนังสูงขึ้นเช่นเดียวกัน และน้ำตาลบริเวณผิวหนังสามารถจับกับโปรตีนอีลาสตินและคอลลาเจนเกิดเป็นสารประกอบที่มีชื่อว่า Advanced glycation end products หรือ AGEs ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดริ้วรอยและแก่ก่อนวัย
จากการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคอาหารในผู้หญิง 4,025 คน ช่วงอายุ 40 – 74 ปี พบว่าการบริโภคอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่มีสัดส่วนปริมาณน้ำตาลสูง มีความสัมพันธ์กับการเกิดรอยตีนกาบนใบหน้า รวมถึงทำให้ผิวหนังบาง ซึ่งเป็นลักษณะผิวหนังที่พบในผู้สูงอายุ
นอกจากการสร้าง AGEs ในโครงสร้างของผิวหนังแล้ว น้ำตาลยังเกี่ยวข้องภาวะการแก่ของเซลล์อื่นๆ ในร่างกายด้วย ตัวบ่งชี้ที่สำคัญของภาวะเซลล์แก่คือความยาวของเทโลเมียร์ (Telomeres) ซึ่งอยู่ที่บริเวณปลายสุดของโครโมโซม (chromosome) ทำหน้าที่ป้องกันสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (DNA) ที่อยู่ในโครโมโซมจากการถูกทำลาย ความยาวของเทโลเมียร์จะแปรผกผันกับอายุ กล่าวคือยิ่งอายุมากขึ้นเทโลเมียร์ยิ่งสั้นและเป็นสาเหตุให้เซลล์เกิดความผิดปกติ
อัตราการเร็วในการหดสั้นของเทโลเมียร์ในแต่ละคนจะแตกต่างกัน รายงานการศึกษาพบว่าการบริโภคน้ำตาลในปริมาณสูงสามารถเร่งการหดสั้นของเทโลเมียร์ให้เร็วขึ้น แต่ปัจจุบันยังไม่มีรายงานการศึกษาที่สามารถอธิบายถึงกลไกของการบริโภคน้ำตาลสูง ต่อการหดสั้นของเทโลเมียร์ได้อย่างแน่ชัด จึงจำเป็นต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต
อย่างไรก็ตาม เมื่อกินน้ำตาลเข้าไปในร่างกาย นำตาลจะไปเกาะโปรตีนเป็นตัว “สารทำแก่” จนทำให้เกิดความเสื่อมอย่างรุนแรง ก่อให้เกิดกระบวนการ Cross – Linked คือ การทำให้เกิดความเสียหายในเซลล์และการตายของเซลล์ จนนำมาสู่วัยชราของอวัยวะต่างๆ และส่งผล ดังนี้
ขอบคุณข้อมูลจาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลวิภาวดี