จากกรณีพบโคเนื้อและสุนัขป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้า ล่าสุดนายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า กรณีนี้ได้มีการกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราวตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ที่อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่นและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นได้มีการค้นหาติดตามผู้สัมผัสสัตว์ให้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว
ทั้งนี้ สำหรับสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยยังมีการพบเชื้อโรคในสัตว์เกือบทุกพื้นที่โดยเฉพาะภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ สัตว์ที่มีการติดเชื้อสูงสุด คือ สุนัข รองลงมา ได้แก่ วัว และควายซึ่งถูกสุนัขกัด
นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค
องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้จัดระดับความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากรณีที่มีการรับประทานเนื้อวัวที่ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าโดยไม่ทำให้สุก เป็นความเสี่ยงในระดับที่ 2 จาก 3 ระดับ
หากมีการบริโภคเนื้อวัวดังกล่าว แนะนำให้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแต่ยังไม่ปรากฎหลักฐานที่แน่ชัดว่า มีคนที่ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจากการกินหรือสัมผัสเนื้อวัวที่ไม่สุก เนื่องจากเชื้อโรคนี้ส่วนใหญ่มักอยู่ที่น้ำลายสัตว์ ไม่ค่อยเข้าสู่กระแสเลือด ดังนั้น โอกาสที่จะติดเชื้อจากการสัมผัสหรือบริโภคเนื้อวัวดิบจึงมีน้อยมาก
ด้านนายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า การรับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกและน้ำนมพาสเจอร์ไรส์จากสัตว์ติดเชื้อไม่ทำให้ติดโรค โดยช่องทางการติดเชื้อที่สำคัญที่สุด คือ การสัมผัสกับน้ำลายสัตว์ ผ่านการถูกกัด ข่วน เลีย
นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค
ควรกักสุนัขที่สงสัยเป็นโรคเพื่อดูอาการ อย่างน้อย 10 วัน วัวหรือควายให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เพื่อส่งตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าและรีบไปพบแพทย์ เพื่อพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและต้องรับวัคซีนให้ครบชุด โดยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค