เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 65 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยที่ประชุมได้เห็นชอบข้อเสนอหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริการจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2566 และร่างข้อบังคับประกาศเกี่ยวข้อง ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุน โดยมี นางดวงตา ตันโช เป็นประธาน
นายอนุทิน กล่าวว่า ตามที่ ครม. ได้มีมติอนุมัติงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 204,140.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 5,248.24 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบเหมาจ่ายรายหัว 161,602.66 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 3,385.98 บาทต่อประชากร
จากงบที่ได้รับนี้ สปสช. นอกจากจะนำมาจัดสรรตามรายการบริการแล้ว ปีนี้ยังได้เพิ่มการสนับสนุนบริการใหม่ให้กับประชาชน รวมถึงการเพิ่มการเข้าถึงบริการ เพิ่มคุณภาพและเพิ่มประสิทธิภาพ โดยบอร์ด สปสช.ได้เห็นชอบในวันนี้
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับบริการที่เพิ่มขึ้นปี 2566 นี้ ได้แก่
การดูแลภาวะความดันเลือดในปอดสูงในทารกแรกเกิด (Persistent Pulmonary Hypertension of the Newborn) 320 ราย จำนวน 32 ล้านบาท
บริการด้านทันตกรรม Vital Pulp Therapy 56,300 ราย จำนวน 78.82 ล้านบาท รากฟันเทียม 15,200 ราย จำนวน 191.37 ล้านบาท
บริการห้องฉุกเฉินคุณภาพภาครัฐ 53,184 ราย จำนวน 759.79 ล้านบาท
ผ้าอ้อมผู้ใหญ่และแผ่นรองซับ 48,554 ราย จำนวน 505.08 บาท
บริการยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (HIV-PEP) 27,000 ราย จำนวน 36.05 ล้านบาท
เพิ่มยา จ.2 จำนวน 14 รายการ ดูแลผู้ป่วย 9,634 ราย จำนวน 302.93 ล้านบาท
บริการดูแลผู้ป่วยกึ่งเฉียบพลัน 30,283 ราย จำนวน 271.83 ล้านบาท
บริการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับพิษ 7,598 ราย และบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 3,653,215 ราย จำนวน 509.40 ล้านบาท เป็นต้น
นอกจากนี้ยังได้ปรับการบริหารจัดการที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการยิ่งขึ้น ได้แก่ บริการโรคโควิด-19 ที่ปรับให้อยู่ในงบกองทุนฯ ครอบคลุมทั้งบริการผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน การป้องกันและการช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีฉีดวัคซีนโควิด-19 451,987 ราย จำนวน 1,358.86 ล้านบาท
นโยบายยกระดับบัตรทอง 2,689,480 ราย จำนวน 1,987.64 ล้านบาท
ยาราคาแพงเพื่อรักษามะเร็ง 125.31 ล้านบาท
บริการยาที่มีส่วนผสมของกัญชาที่บรรจุในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติ 21,100 ราย จำนวน 44.41 ล้านบาท
เบาหวานชนิดที่ 2 และความดันโลหิตสูง ปรับการจ่ายตามรายการบริการ 4,097,967 ราย จำนวน 908 ล้านบาท
เพิ่มสัดส่วนสมทบกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพในระดับจังหวัดตามความพร้อมแต่ละฟื้นที่ 3,870,191 ราย จำนวน 822.19 ล้านบาท
ผ่าตัดข้อเข่าและผ่าตัดต้อกระจก ปรับเป้าหมายตามบริบทพื้นที่ 130,514 ราย จำนวน 1,777.99 ล้านบาท
บริการดูแลระยะยาวสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง (LTC) ปรับจ่ายตามแผนการดูแลแต่ละบุคคล (Care plan) และปรับรอบการจ่ายเป็นทุก 15 วัน 210,941 ราย จำนวน 1,265,65 ล้านบาท
บริการไตวายเรื้อรัง 67,786 ราย จำนวน 9,952.18 ล้านบาท โดยปรับการดูแลยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เพิ่มทางเลือกจ่ายชดเชยเป็นเงินสำหรับน้ำยาล้างไต และยาเพิ่มเม็ดเลือดแดง (EPO) เป็นต้น
นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบแผนและวงเงินการจัดหายา วัคซีน เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ฯ ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ ปี 2566 วงเงิน 12,162.83 ล้านบาท
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน สปสช. ยังได้พัฒนาประสิทธิภาพระบบการจ่ายที่สนับสนุนการบริการของหน่วยบริการ ได้แก่ การบูรณาการระบบข้อมูลบริการสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อคืนข้อมูลให้กับหน่วยบริการและประชาชน การทำระบบเชื่อมข้อมูลบริการเพื่อลดภาระการส่งข้อมูลของหน่วยบริการ การเพิ่มประสิทธิภาพตรวจสอบการจ่าย ได้แก่ การพิสูจน์ตัวตน ระบบตรวจก่อนจ่าย เน้นการใช้ AI Audit เน้นบริการจ่ายตามผลงานทุกรายการ เป็นต้น
การจัดทำกลไกทบทวนอัตราจ่ายตามรายการบริการ โดยมีคณะทำงานทบทวน การปรับระบบขยายบริการข้ามเขตและการจัดทำระบบการให้บริการมากกว่า 1 หน่วยบริการ อย่างกรณีนวัตกรรมย่านโยธี นอกจากนี้ในปี 2566 นี้ ยังได้เพิ่มบทบาท อปสข. ร่วมให้คำแนะนำ/ความเห็นต่อหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายค่าบริการ เพื่อให้เป็นไปตามบริบทซึ่งเป็นปัญหาในพื้นที่