ยังไงแน่ ! รพ.เอกชน ขาย “แพ็กเกจรักษาโควิด” ให้ “ฟาวิพิราเวียร์” ทำได้ไม่ได้

12 ก.ค. 2565 | 07:00 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ย. 2565 | 16:09 น.

ประเด็น รพ.เอกชน ออกโปรโมชั่น “ขายแพ็กเกจรักษาโควิด” จ่ายยา “ฟาวิพิราเวียร์” หรือยารักษาโควิดประเภทอื่นๆ จริงๆเเล้วทำได้ไม่ได้ ?

เป็นประเด็นร้อนที่น่าจับตาหลังโลกโซเชียลวิพากวิจารณ์ กรณีที่โรงพยาบาลหลายแห่ง "ขายแพ็กเกจรักษาโควิด" "ฐานเศรษฐกิจ" สำรวจ พบว่า โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง เสนอแพ็กเกจ Home Isolation สำหรับผู้ป่วยโควิดที่มีผล ATK หรือ RT-PCR ยืนยันว่าพบเชื้อ อายุ 5-60 ปี อาการไม่รุนแรง

สามารถดูแลตัวเองได้ ไม่มีโรคประจำตัวรุนแรงหรือควบคุมไม่ได้ ในแพ็คเกจมียาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาต้านไวรัสอื่นๆ และหากต้องการให้แพทย์โทรติดตามอาการ จะต้องจ่ายเงินเพิ่ม โดยมีราคาตั้งแต่ 2,900-6,500 บาท ถ้าต้องการการแพ๊คเกจเสริมจะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์เพิ่มจากแพ็คเกจปกติ ทั้งนี้รายละเอียดก็ขึ้นอยู่กับการจัดแพ็กเกจของแต่ละโรงพยาบาล

คำถามที่ตามมาก็คือ “ยาฟาวิพิราเวียร์” และ “ยาโมลนูพิราเวียร์” เป็นสวัสดิการรัฐไม่ใช่หรือ ?  รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนให้ รพ.รัฐ และเอกชน เพื่อรักษาตามสิทธิ์การรักษา เพราะก่อนหน้านี้ประชาชนก็เข้าใจมาตลอดว่าหน่วยงานสาธารณสุขจะจ่ายให้ผู้ป่วยโควิด ที่มีความเสี่ยงอาการรุนแรงฟรี

 

มองอีกมุมหนึ่งโรงพยาบาลเอกชน ออกแพ็กเกจรักษาโควิด อาจจะต้องการอำนวยความสะดวกให้เป็นทางเลือกเลือกให้กับผู้ป่วยที่มีกำลังทรัพย์ แต่เรื่องนี้สร้างความสงสัย ปนกังวลใจให้กับประชาชนไม่น้อย เพราะหากติดโควิดขึ้นมาจะทำอย่างไร และถ้ายิ่งเป็นคนมีรายได้น้อยจะทำอย่างไรดีล่ะ ?

 

เรื่องนี้ "นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี" และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จะลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าทำได้หรือไม่ เพราะต้องมีหลักฐาน โดยตรวจสอบตั้งแต่ การขออนุมัติโฆษณาก่อนที่เผยแพร่ มาตรฐานการรักษาทางการแพทย์ ที่มาของยารักษาโควิดที่นำมาจัดจำหน่าย

 

ซึ่งห้ามนำยาที่ภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนมาจัดจำหน่ายโดยเด็ดขาด หากตรวจพบว่าสถานพยาบาลเอกชนมีการลักลอบนำยาของภาครัฐมาจำหน่ายก็จะถือว่ามีความผิดตามกฎหมายพระราชบัญญัติสถานพยาบาล และพระราชบัญญัติยา และแพทย์ผู้ให้บริการก็อาจจะถูกดำเนินการในฐานกระทำผิดจริยธรรมทางการแพทย์ด้วย

 

ส่วนคำถามว่า ขาย “แพ็กเกจรักษาโควิด” จ่ายยา “ฟาวิพิราเวียร์” หรือยาประเภทไหนนั้น นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ระบุว่า ทำได้ แต่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาทางการแพทย์ ยาส่วนนี้จะเป็นของเอกชน ซึ่งในส่วนของรัฐ จะเตรียมยาไว้ให้กรณีโรงพยาบาลเอกชนที่ดูแลคนไข้ตามสิทธิ์ แต่ยังมีอีกกลุ่มที่มาขึ้นทะเบียน และเอกชนสามารถซื้อขายตามระบบปกติได้

 

สิ่งสำคัญก็คือออกแพ็คเกจมาแล้ว ต้องพิจารณาอาการของผู่ป่วยเป็นหลัก ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการรักษา มาตรฐานสถานพยาบาล หากทำผิดจะผิดทั้ง พ.ร.บ.สถานพยาบาลฯ และหากแพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายนอกเหนืออาการก็จะเข้าข่ายผิดเรื่องการประกอบวิชาชีพ

 

มาถึงตรงนี้สำหรับ คนที่เป็นโควิดหากไปรักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็น

  • "สิทธิบัตรทอง" ให้เข้ารับการรักษากับหน่วยบริการปฐมภูมิ สถานพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้
  • ร้านยาในโครงการ "เจอ แจก จบ" สิทธิประกันสังคม ให้เข้ารับการรักษากับสถานพยาบาลคู่สัญญาในระบบประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ ให้เข้ารับการรักษากับสถานพยาบาลภาครัฐ
  • ถ้ามีอาการรุนแรงเข้าข่ายผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสีเหลือง หรือสีแดง สามารถเข้ารับการรักษาตามนโยบาย UCEP Plus กับสถานพยาบาลใดก็ได้ โดยสถานพยาบาลจะดำเนินการคัดกรองผู้ป่วย แยกระดับความฉุกเฉิน และแจ้งผลให้แก่ญาติผู้ป่วยทราบ ก่อนนำเข้าสู่การรักษากับสถานพยาบาลของรัฐบาลหรือเอกชน ไม่มีการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจนกว่าผู้ป่วยจะหายจากโรคโควิด เพราะรัฐเป็นผู้สนับสนุนยาให้โรงพยาบาล
  • การจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ก็คือผู้ป่วยหรือญาติไม่ประสงค์ที่จะให้ไปรักษาในสถานพยาบาลที่กำหนด หรือประสงค์ไปรักษากับสถานพยาบาลอื่น ก็จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง
  • หากไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน ก็ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง สำหรับผู้ที่ต้องการความสะดวกสบาย จ่ายไหว แต่การรักษาต้องเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาทางการแพทย์ด้วย

 

ประชาชนพบการกระทำผิดกฎหมาย หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการรับบริการกับโรงพยาบาลเอกชน หรือคลินิก สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1426 กรม สบส. เพื่อตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป