15 กรกฎาคม 2565 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค(คร.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โควิด19 ในประเทศไทยรอบนี้ว่า ขณะนี้สถานการณ์ระดับความรุนแรงยังอยู่ที่ระดับ 2 ยังเป็น สีเขียว หากเทียบกับสถานการณ์ตอนที่สายพันธุ์เดลตาระบาดเมื่อปีที่ผ่านมาซึ่งเป็น สีแดง ยังต่างกันอยู่มาก
ข้อมูลที่ติดตามเป็นหลัก คือ ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีปอดอักเสบและผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจโดยขณะนี้ผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจใกล้จะถึง 400 รายแล้วสถานการณ์ที่เพิ่มขึ้นในตอนนี้เป็นในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล
ช่วงนี้ที่ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นเป็นผลพวงจากการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นเมื่อ 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะ 2 สัปดาห์ที่แล้วที่ ตัวเลขเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม 608 ช่วงนี้จึงต้องปรับรูปแบบการรักษาให้เร็วขึ้นเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยหนักให้น้อยลง รวมถึงต้องเร่งฉีดวัคซีนให้มากขึ้น หากถึงกำหนดฉีดเข็มกระตุ้นต้องไปฉีด เพราะหลังฉีดแล้วต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันถึงจะขึ้นและป้องกันเชื้อได้
"ฉีดวัคซีนตอนนี้อีก 2 สัปดาห์น่าจะพอดี เนื่องจากคาดการณ์ว่า สถานการณ์ระบาดรอบนี้จะสูงสุดช่วงหลังวันแม่ 12 ส.ค. 2565 ตัวเลขข้อมูลในส่วนต่างๆ จะมากขึ้นกว่าปัจจุบันราว 1 เท่าตัว โดยผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นก่อนจำนวนมาก
จากนั้นจะมีผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้นตามมา โดยสถานการณ์ขึ้นสูงสุด จะเริ่มที่กรุงเทพฯก่อน แต่ไม่ได้อยู่ที่กรุงเทพฯอย่างเดียว จะกระจายไปจังหวัดอื่นด้วย สถานการณ์สูงสุดจะค่อยๆขึ้น และอาจจะเร็วกว่านี้ได้" นพ.จักรรัฐกล่าวและว่า
สำหรับในช่วงหยุดยาว แม้การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไม่ยังไม่มากเพียงพอที่ต้องการ 60% แต่ฉีดไปกว่า 40 % แล้ว และประชาชนเข้าใจวิธีการป้องกันตนเองหลังจากมีประสบการณ์มา 2 ปีครึ่ง หวังว่า การเดินทางในรอบหยุดยาว คงจะมีมาตรการป้องกันส่วนบุคคลค่อนข้างดี หวังว่า การติดเชื้อไม่กระจายไปในจังหวัดที่ไปท่องเที่ยวมากนัก
อีกทั้งมาตรการต่างๆของขนส่งสาธารณะยังคงความเข้มขึ้นอยู่ แม้ว่าบางสายการบินจะผ่อนคลายเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังอยากจะให้ทุกคนช่วยกันยังอยากให้สวมหน้ากากอนามัยต่อไปก่อน รวมถึงเว้นระยะห่าง
ทั้งนี้ ในกลุ่ม 608 ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์ หลายท่านอาจจะคิดว่าอาการไม่มาก ฉีดวัคซีน 2 เข็มแล้ว รอก่อนได้ ค่อยไปหาแพทย์ หรือค่อยตรวจ ATK จะต้องขอให้ตรวจเร็วขึ้น ทันทีเมื่อเริ่มมีอาการ เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ แน่นหน้าอกมากขึ้น หายใจไม่ค่อยสะดวก หายใจลำบาก และถ้าเจอ 2 ขีดติดเชื้อ กลุ่มวัยทำงานอาจจะรักษาตัวที่บ้านได้ แต่กลุ่ม 608 ขอให้ทุกรายไปรพ.เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยอาการก่อนว่าจะมีแนวทางการรักษาอย่างไร เช่น หากเชื้อลงปอดแล้วอาจจะต้องนอนรักษาในรพ.
นพ.จักรรัฐ กล่าวด้วยว่า การปรับระดับความรุนแรงและการเตือนภัยสูงขึ้นนั้น ขณะนี้ตัวแปรต่างๆยังไม่ครบ โดยในส่วนของจังหวัดอื่นๆยังไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ที่เพิ่มขึ้นในส่วนของกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งทุกระลอกพื้นที่เหล่านี้จะเพิ่มขึ้นก่อนเสมอ หากสามารถควบคุมโรคได้ดี กลุ่มเสี่ยง 608 มีอาการไม่รุนแรงมากนักและจำนวนไม่มาก ก็อาจจะควบคุมโรคได้เร็ว ไม่กระจายต่อทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม จะมีการปรับปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้
1.เมื่อผู้ป่วยรายใหม่เข้ารักษาในรพ. เกิน 4,000 รายต่อวัน อาจต้องให้ใส่หน้ากากอนามัย 100% หรือเว้นระยะห่างมากขึ้น
2.ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ เกิน400-500 รายต่อวัน อาจต้องปรับมาตรการรักษา ให้ยาเร็วขึ้น ป้องกันโรคอื่นด้วย
3.ผู้เสียชีวิต เกิน 40 รายต่อวัน ถ้าเกินต้องมีมาตรการเพิ่มเติม