โรคฝีดาษลิง แบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์
- สายพันธุ์แอฟริกากลาง มีความรุนแรงมาก อาจถึงขั้นเสียชีวิต
- สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์แอฟริกากลางมาก ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ ณ ขณะนี้
โรคฝีดาษลิงเกิดจากอะไร
- เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เช่นเดียวกับไวรัสอีกหลายชนิด ได้แก่ ไวรัสที่ทำให้เกิดฝีดาษในคนหรือไข้ทรพิษ (variola virus) ไวรัสที่นำมาผลิตวัคซีนป้องกันฝีดาษในคน (vaccinia virus) และฝีดาษวัว (cowpox virus)
- เชื้อไวรัสฝีดาษลิงพบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า เป็นต้น
ระยะฟักตัวโรคฝีดาษลิง
- มีระยะฟักตัวก่อนแสดงอาการประมาณ 5-21 วัน
- ส่วนใหญ่พบแสดงอาการในช่วง 10-14 วัน
รูปแบบการติดเชื้อโรคฝีดาษลิง
- จากสัตว์สู่คน จากการสัมผัสโดยตรงจากเลือด สารคัดหลั่งหรือตุ่มหนองของสัตว์ ถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดหรือข่วน รวมถึงการประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่าที่ติดเชื้อและปรุงสุกไม่เพียงพอ
- จากคนสู่คน แม้มีโอกาสน้อย แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่งหรือตุ่มหนอง การติดต่อจากทางเดินหายใจโดยผ่านทางละอองจากการไอหรือจาม
อาการและความรุนแรงของโรคฝีดาษลิง
- อาการเริ่มแรก มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต จากนั้น 1-3 วัน เริ่มมีผื่นขึ้นที่หน้า ลำตัว แล้วลามออกไปที่แขนขา ผื่นจะเห็นเด่นชัดมากที่บริเวณหน้า และแขน ขา ซึ่งอาการดังกล่าวจะอยู่ราวๆ 2-4 สัปดาห์
- ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ โดยอาการรุนแรงมักพบในกลุ่มเด็ก ซึ่งในประเทศแอฟริกาพบอัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 10
- ลักษณะผื่นแบ่งตามระยะดังนี้ เริ่มจาก ผื่นนูนแดง (Maculopapular) ตุ่มน้ำใส(Vesicles) ตุ่มหนอง (Pustules) ตุ่มหนองบุ๋มตรงกลาง (Umbilicated Pustules) สะเก็ด (Crusted) และแผลลอก
ข้อมูล : โรงพยาบาลพญาไท