กทม. พร้อมเปิดคลินิก Long COVID ครอบคลุม 9 รพ.

05 ส.ค. 2565 | 04:50 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ส.ค. 2565 | 12:01 น.

กทม. เตรียมพร้อมเปิดคลินิก Long COVID ครอบคลุม 9 โรงพยาบาล นัดหมายการรับบริการผ่าน BFC ของโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่ง และขยายช่องทางให้บริการตรวจรักษาผ่านระบบ Telemedicine ในแอปพลิเคชั่น “หมอ กทม.”

นายแพทย์สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เนื่องจากแต่ละคนตอบสนองต่อเชื้อโควิดแตกต่างกัน อีกทั้ง ปัญหาด้านการหายใจ เป็นปัญหาที่พบบ่อยที่สุดปัญหาหนึ่งในภาวะลองโควิด โดยอาจมีการเกิดแผลเป็น พังผืดในเนื้อปอด ได้กว่าครึ่งของกลุ่มที่มีอาการมากหรือมีโรคประจำตัวอยู่ก่อน หากได้รับการตรวจวินิจฉัยที่เร็ว และได้รับการรักษาที่เหมาะสม สามารถทำให้อาการดังกล่าวหายไปและกลับมาใช้ชีวิตปกติได้เร็วขึ้น จึงเตรียมเปิดคลินิก Long COVID ในโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่ง ดังนี้

 

ทุกวันจันทร์ เวลา 13.00-16.0 น.

  • ณ ARI Clinic โรงพยาบาลตากสิน

 

ทุกวันอังคาร เวลา 08.00-12.00 น.

  • ณ คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร
  • ณ คลินิกวัณโรค โรงพยาบาลสิรินธร

 

ทุกวันพุธ

เวลา 09.00-12.00 น.

  • ณ อาคารอนุสรณ์ 20 ปี ชั้น 2 โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์

 

เวลา 13.00-16.00 น.

  • ณ ARI Clinic โรงพยาบาลราชพิพัฒน์
  • ณ คลินิกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน

 

 

ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 13.00-16.00 น.

  • ณ คลินิกประกันสุขภาพ โรงพยาบาลกลาง
  • ณ คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธฺโร อุทิศ
  • ณ คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์

 

กทม. พร้อมเปิดคลินิก Long COVID ครอบคลุม 9 รพ.

 

 

เพื่อรองรับผู้ที่หายจากการติดเชื้อโควิด-19 ที่พ้นระยะเฉียบพลัน แต่ยังคงมีอาการผิดปกติในระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น หายใจลำบาก หายใจติดขัด หายใจไม่อิ่ม เหนื่อยง่าย อ่อนแรง ไอ เจ็บแน่นหน้าอก และอ่อนเพลียเรื้อรัง ซึ่งผู้ป่วยโควิดที่ได้รับการรักษาจนไม่พบเชื้อส่วนหนึ่ง ยังคงรู้สึกว่าร่างกายยังผิดปกติโดยอาการเรื้อรังที่หลงเหลืออยู่นี้ เรียกว่า ลองโควิด ("Long COVID-19" หรือ "Post COVID-19 Syndrome") ซึ่งจะครอบคลุมการให้คําปรึกษา การตรวจประเมิน การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือตรวจพิเศษ การวินิจฉัย การดูแลรักษา ติดตามอาการ โดยทีมสหสาขาวิชาชีพ อาทิ แพทย์ พยาบาลวิชาชีพ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา เป็นต้น รวมถึงการส่งต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (ในกรณีจําเป็น)

 

เบื้องต้นได้วางรูปแบบบริการผู้ป่วยนอก โดยนัดหมายการรับบริการผ่าน BFC ของโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่ง และขยายช่องทางให้บริการตรวจรักษาผ่านระบบ Telemedicine ในแอปพลิเคชั่น “หมอ กทม.” เพื่อรองรับการให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยเบิกจ่ายค่ารักษาตามสิทธิของผู้ป่วยได้

 

ที่มา : สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร