ประกันสังคม มอบ 3 สิทธิแก่ว่าที่คุณแม่ มีอะไรบ้าง เช็คเลย

12 ส.ค. 2565 | 08:52 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ส.ค. 2565 | 16:00 น.

รู้หรือไม่ว่า! ผู้ประกันตนที่เป็นว่าที่คุณแม่จะได้รับ 3 สิทธิประโยชน์ทั้งค่าคลอดบุตร -การฝากครรภ์ และสงเคราะห์บุตร เช็คเงื่อนไขการรับสิทธิทั้งหมดจากสำนักงานประกันสังคมที่นี่

สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิของผู้ประกันตน ที่เป็นว่าที่คุณแม่ -คุณพ่อ โดยจะได้รับ 3 สิทธิจากประกันสังคม อันประกอบไปด้วย สิทธิคลอดบุตร ,สิทธิฝากครรภ์ และ สิทธิสงเคราะห์บุตร ซึ่งทั้ง 3 สิทธิจะมีเงื่อนไขอย่างไรบ้างนั้้น "ฐานเศรษฐกิจ"รวบรวมข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคมมานำเสนอดังต่อไปนี้ 


สิทธิคลอดบุตร 

  • เหมาจ่ายค่าคลอดบุตร  15,000 บาท ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ (ไม่จำกัดจำนวนครั้ง)
  • เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร (สิทธิเฉพาะผู้ประกันตนฝ่ายหญิง)  โดยจะเหมาจ่ายร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน (ใช้สิทธิ์ได้ 2 ครั้ง)

 

เงื่อนไขการรับสิทธิ
ผู้ประกันตน ม. 33 และ 39 เมื่อจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนเดือนวันคลอดบุตร
ผู้ประกันตน ม.38 และ 41 เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือนภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน และได้รับสิทธิคุ้มครองภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน
 

สิทธิฝากครรภ์ 
ค่าตรวจครรภ์และฝากครรภ์  1,500 บาท

  • อายุครรภ์ ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 500 บาท
  • อายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์ จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 300 บาท
  • อายุครรภ์ 20-28 สัปดาห์ จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 300 บาท
  • อายุครรภ์ 28-32 สัปดาห์ จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 200 บาท
  • อายุครรภ์ 32-40 สัปดาห์ จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 200 บาท

 

ทั้งนี้สามารถยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทน ภายในระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่คลอดบุตร ที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ที่สะดวก 
 

สิทธิสงเคราะห์บุตร 
เงินสงเคราะห์บุตร 800 บาท/เดือน/บุตร 1 คน  (สูงสุดคราวละ ไม่เกิน 3 คน) ตั้งแต่บุตรแรกเกิดจนบุตรอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์

 

เงื่อนไขการรับสิทธิ

  • ผู้ประกันตนตามมาตรา33 และมาตรา39 จะได้รับสิทธิเมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือนก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นบุตรบุญธรรมหรือบุตรที่ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น

 

เงื่อนไขการหมดสิทธิ
1. เมื่อบุตรอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์ หรือบุตรเสียชีวิต


2. ยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น


3. ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

 

ทั้งนี้ สามารถยื่นเรื่องรับสิทธิได้ที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ที่สะดวก ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิ   


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

  • สายด่วน 1506 ให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
  • เว็บไซต์ประกันสังคม www.sso.go.th 

 

ผู้ประกันตนที่เป็นว่าที่คุณแม่จะได้รับ 3 สิทธิประโยชน์ทั้งค่าคลอดบุตร -การฝากครรภ์ และสงเคราะห์บุตร