นับตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ประเทศไทย พบผู้ป่วยติดเชื้อ ไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 เป็นรายแรก จวบจนถึงปัจจุบัน ยอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 4,646,412 ราย และ รักษาหายแล้ว 4,596,639 ราย การเข้ารับการรักษาอาการป่วยโควิด-19 ของชาวไทย ถือว่า มีประชาชนเข้าถึงการรักษามากกว่า 90% และ ระบบการเข้ารับการรักษานั้น ส่วนสำคัญ คือ “ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงการระบบรักษาและบริการสาธารณสุขที่จำเป็นได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง
ในปีงบประมาณ 2564 การแพร่ระบาด “โควิด-19” พุ่งสูงขึ้นทั่วโลกและประเทศไทย เป็น 1 ใน ประเทศที่ได้รับผลกระทบ แต่จากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามารถดูแลประชาชนให้เข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขโดยไม่มีปัญหาด้านภาระค่าใช้จ่ายเป็นอุปสรรค
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ประเมินสถานการณ์ และ จัดเตรียมงบประมาณรองรับการดูแลผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโควิด-19 ต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2563 จำนวน 9,200 ล้านบาท จาก พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563
ต่อมาวันที่ 5 เม.ย.2564 คณะกรรมการ สปสช. มีมติเห็นชอบข้อเสนอแนวทาง หลักเกณฑ์ การดำเนินงานและการบริหารจัดการงบที่ได้จาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ ในเบิกจ่ายรอบที่ 2 อีกกว่า 3,700 ล้านบาท และ เสนอขอรับจัดสรรงบเพิ่มเติม รอบที่ 3 จำนวนกว่า 9,847 ล้านบาท
ขณะเดียวกันได้หารือกับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เสนอจัดสรรงบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติมจำนวน 20,829.23 ล้านบาท โดย ครม.อนุมัติ เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2564 และได้ดำเนินการโอนคืนให้กับหน่วยบริการที่รอจ่ายเป็นที่เรียบร้อย
งบประมาณทั้งหมดนั้น ได้ขับเคลื่อนให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาแบบครอบคลุม เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้ป่วย ยังคงขยับขึ้นเรื่อยๆ ควบคู่กับอัตราการรักษาหายของประชาชนที่สอดคล้องกับผู้ป่วย ซึ่งพ้นจากวิกฤติอาการ รักษาจนหายดีและกลับมาใช้ชีวิตในสังคมตามปกติ
ส่วนการทำงานเชิงรุกของ สปสช. ได้ร่วมมือกับ กรมควบคุมโรค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด บูรณาการ จุดคัดกรองโควิด-19 สนับสนุนระบบดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้านและในชุมชน เช่น การขยายจุดคัดกรองเพิ่มเติม ณ สนามกีฬาธูปะเตมีย์ และสนามราชมังคลากีฬาสถาน (หัวหมาก) รวมถึงจุดบริการศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ เพื่อให้บริการตรวจคัดกรองผู้ป่วยและระบบส่งต่อรักษาตามอาการ
การจัดชุดตรวจ ATK เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงสามารถตรวจเชื้อและเข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยตนเอง ซึ่งมีการสื่อสารกับประชาชนโดยตรงผ่าน “แอปพลิเคชันเป๋าตัง” เพื่อแจ้งรับชุดตรวจ ATK ได้ที่หน่วยบริการใกล้บ้าน
ทั้งนี้ ประสบการณ์ของผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด 19 และได้เข้ารับการรักษาตามสิทธิ์บัตรทอง หรือ หลักหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า บอกเล่า เรื่องราวที่ได้ประสบกับตนเองจากการใช้สิทธิ์บัตรทอง โดย ชายวัย 37 ปี เล่าว่า ในช่วงเดือน ส.ค.2564 ระบุว่า ตนได้รับสิทธิการรักษา จากบัตรทอง ในขณะที่สถานการณ์ช่วงนั้นรุนแรงและตนอยู่ในสถานะผู้ป่วยร่วมกับคนไทยอีกว่าล้านคน
และช่วงนั้นตัวเลขผู้ป่วยวิกฤตและผู้เสียชีวิตค่อนข้างพุ่งสูง แต่หลังเข้าใช้สิทธิ์ในสถานพยาบาลของรัฐ ซึ่งตนขอเข้ารับการรักษาแบบ Home Isolation แต่ไม่รู้สึกถึงความห่างไกลจากการรักษา เนื่องจากทีมบุคคลากรทางการแพทย์ ได้เข้าติดตามอาการของตนถึงที่บ้าน และยังมีการพูดคุยติดต่อกันผ่านระบบออนไลน์ เพื่อประเมินสภาพอาการในทุกวัน กำหนดวันเข้าตรวจอาการเชิงลึก
เช่น เอ็กซเรย์ปอด ตรวจเลือด โดยมีรถพยาบาลมารับตัว และ ส่วนสำคัญคือ การได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยารักษาอาการที่มีประสิทธิภาพ แม้ตนรักษาตามระบบที่สถานพยาบาลในต่างจังหวัด แต่ได้รับการดูแลอย่างดีจนอาการหายเป็นปกติ
ทางด้าน หญิงวัย 30 ปี ซึ่งเป็นอดีตผู้ป่วย โควิด-19 เล่าว่า ในช่วงเดือน พ.ค.2565 ที่ผ่านมา ครอบครัวตนรวม 8 คน ติดเชื้อพร้อมกัน มีคุณแม่วัย 70 ปี น้าสาว น้าเขย และ ลูกสาว วัย 8 ขวบ และ 10 ขวบ ซึ่งทุกคนใชได้สิทธิ์การรักษาจาก บัตรทอง หรือ สิทธิบัตรหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ทำให้ทั้งครอบครัวได้เข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็ว ทุกคนได้รับยาและได้รับการรักษาเป็นอย่างดี ไม่มีผู้ใดได้รับการปฏิบัติแตกต่างกัน เพราะการรักษาตามหลักประกันสุขภาพนั้น สิ่งที่ชื่นชมคือ ผู้ป่วยทุกคนได้รับการรักษาที่ดีเท่าเทียมกัน ส่วนอาการป่วยของตน ในตอนนั้น คาดว่าอาจได้รับเชื้อ โอมิครอน รักษาตัว จนหายเป็นปกติและกักตัวจนครบ 10 วัน
ปัจจุบันนี้ สายด่วน สปสช. 1330 ขยายเพิ่มเป็น 3,000 คู่สาย พร้อมเพิ่มช่องทางออนไลน์ เปิดรับฟังความเห็นจาก Facebook live ระบบ Zoom meeting รวมถึง Google Form เพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ หรือ บัตรทอง ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์โรคอุบัติใหม่และให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงการรักษาทุกโรคต่อไปในอนาคต อย่างเท่าเทียม