นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากความร่วมมือระหว่าง สปสช. และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลประจำปี 2565 ให้กับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 31 สิงหาคม 2565 นั้น
ขณะนี้พบว่ายังมีประชาชนใน 7 กลุ่มเสี่ยง จำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้รับบริการฉีดวัคซีนฯ นี้ ดังนั้นเพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการวัคซีนฯ และได้รับการดูแลอย่างครอบคลุมและทั่วถึง สปสช. จึงได้ขยายเวลาบริการฉีดวัคซีนฯ เพิ่มเติมออกไปอีก 1 เดือน คือตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 กันยายน 2565
“ประชาชนที่อยู่ใน 7 กลุ่มเสี่ยง หรือมีคนในครอบครัวที่อยู่ใน 7 กลุ่มเสี่ยง แต่ยังไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ฯ วันนี้ สปสช.ขอเชิญชวนให้รับมารับบริการฉีดวัคซีนฯ โดยเร็ว ภายในวันที่ 30 กันยายนนี้ ตามที่ สปสช. ขยายเวลารับบริการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ต้องย้ำว่าวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เป็นวัคซีนที่มีประโยชน์อย่างมากในการลดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิต ช่วยลดภาวะเสี่ยงที่ป้องกันได้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวว่า สำหรับข้อมูลการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ฯ ณ วันที่ 1 กันยายน 2565 มีประชาชนที่อยู่ใน 7 กลุ่มเสี่ยงรับบริการฉีดวัคซีนฯ แล้วจำนวน 3,426,146 ราย จากเป้าหมายบริการ 4,100,801 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 83.55 โดยมีหน่วยบริการทั่วประเทศร่วมให้บริการกว่า 7,000 แห่ง ขณะนี้เหลือวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ฯ อีกเพียง 674,655 โดสเท่านั้น
จากข้อมูลผู้รับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ผ่านมา พบว่าเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปมากที่สุดจำนวน 1,885,576 คน กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังจำนวน 1,724,604 คน กลุ่มผู้ป่วยโรคอ้วนจำนวน 57,349 คน กลุ่มเด็กอายุ 6 เดือน-2 ปีจำนวน 50,824 ราย กลุ่มผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียจำนวน 42,428 ราย และกลุ่มอื่นๆ 383,703 คน
สำหรับ 5 อันดับแรกของจังหวัดที่มีประชาชนกลุ่มเสี่ยงมารับบรการฉีดวัคซีนฯ สูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จำนวน 223,986 ราย นครราชสีมา จำนวน 137,558 ราย อุบลราชธานี 91,160 ราย ขอนแก่น 91,077 ราย และเชียงใหม่ 89,091 ราย ส่วน 5 อันดับแรกหน่วยบริการที่มีประชาชนกลุ่มเสี่ยงมารับบริการฉีดวัคซีนฯ มากที่สุด ได้แก่ รพ.อุดรธานี จำนวน 26,532 ราย รพ.สมุทรปราการ จำนวน 22,132 ราย รพ.กำแพงเพชร จำนวน 18,187 ราย รพ.สุรินทร์ จำนวน 16,241 ราย และ รพ.บางละมุง จำนวน 14,805 ราย
ทั้งนี้ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ในการรับบริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ฯ ได้แก่
1.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป (ให้บริการตลอดทั้งปี)
2.เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปีทุกคน
3.ผู้มีโรคเรื้อรัง ดังนี้ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน
4.บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
5.โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)
6.โรคอ้วน (น้ำหนักมากว่า 100 กิโลกรัม หรือ BMI มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)
7.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้