“โรคกระดูกทรวงอกผิดรูป” นั้นมี 2 ประเภท คือ “ความผิดปกติแบบอกบุ๋ม” (Pectus excavanatum)และ “อกนูนหรืออกไก่” (Pectus carinatum) สาเหตุมักเกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดทิศทางของกระดูกอ่อนทรวงอก
โดยมากมักพบแบบอกบุ๋มมากกว่าอกนูน มักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยปกติแล้วผู้ป่วยที่ทรวงอกผิดรูป จะไม่มีผลกระทบต่อร่างกาย
แต่อาจจะมีในบางรายเท่านั้นที่ส่งผลต่อการทำงานของปอดและหัวใจทำให้เกิดอาการเหนื่อยง่าย และส่งผลต่อความมั่นใจของผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวันกับผู้ป่วยหรือสังคมคนรอบข้างเองก็ตาม
ผศ.นพ.ศิระ เลาหทัย ศัลยแพทย์ทรวงอกเชี่ยวชาญด้านผ่าตัดส่องกล้องปอดและต่อมไทมัส คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล ได้กล่าวว่า เดิมทีการผ่าตัดแก้ไขในโรคอกบุ๋ม นั้น สามารถทำได้โดยตัดบริเวณกระดูกอ่อนซี่โครงหลายชิ้นและพลิกกลับด้าน หรือที่เรียกว่า (Sternum turnover) ซึ่งการผ่าตัดนี้มักเกิดภาวะแทรกซ้อนค่อนข้างมาก
แต่ในปัจจุบันการผ่าตัดรักษาโรคอกบุ๋มนี้ ค่อนข้างพัฒนาไปมาก โรคอกบุ๋มเกิดจากภาวะที่มีการเจริญเติบโตผิดปกติบริเวณกระดูกซี่โครงทำให้นูนผิดปกติ ซึ่งถ้าเป็นตั้งแต่เด็ก มีโอกาสที่จะอกบุ๋มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเข้าสู่วัยรุ่น จนกระทั่งการเจริญเติบโตเริ่มคงที่ ซึ่งภาวะอกบุ๋มนี้ จะไม่มีผลอะไรต่อร่างกาย ยกเว้นในกรณีที่อกบุ๋มรุนแรง อาจมีกดเบียดบริเวณปอดและหัวใจได้
สำหรับวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้องในประเทศไทย จะมีการนำวัสดุประเภทเหล็ก นำไปดัดเข้ารูปเข้าไปดามกระดูกที่ผิดรูปผ่านทางการผ่าตัดส่องกล้องทางด้านบริเวณลำตัวทั้ง 2 ข้าง โดยการผ่าตัดวิธีนี้จะมีขนาดแผลประมาณ 3 เซนติเมตรเท่านั้น
โดยเรียกวิธีนี้ว่า การผ่าตัด Nuss procedure โดยเมื่อผ่าตัดเสร็จแล้ว เราจะคาเหล็กไว้ในร่างกายประมาณ 3-4 ปี เพื่อให้เนื้อเยื่อพังผืดมาทดแทนบริเวณโลหะ แล้วจึงนำแท่งเหล็กออกมาจากร่างกาย ซึ่งการผ่าตัดประเภทนี้สามารถลดภาวะแทรกซ้อนมากกว่าการผ่าตัดแบบดั้งเดิม
ในทางกลับกัน สำหรับโรคอกนูนหรืออกไก่ ซึ่งมักมาพบแพทย์ด้วยลักษณะ ของอกที่ผิดรูป ซึ่งเกิดจากภาวะที่มีการเจริญเติบโตผิดปกติบริเวณกระดูกซี่โครงผิดปกติ ภาวะนี้ไม่มีผลอะไรต่อร่างกาย เป็นแค่โครงสร้างที่มีความผิดปกติ ไม่ส่งผลต่อการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวัน
ทั้งนี้หากผู้ป่วยต้องการรับการผ่าตัดแบบส่องกล้องจะมีอัตราความเสี่ยงน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ผู้ป่วยจะต้องทำการผ่าตัดอย่างน้อยอีก 1 ครั้งเพื่อนำเอาเหล็กออกจากร่างกาย และต้องพักฟื้นนอนโรงพยาบาลประมาณ 5-7 วัน
โดยปกติแล้วมักจะได้รับคำแนะนำจากแพทย์ให้ผู้ป่วยอายุประมาณ 12-13 ปี หรือเป็นผู้ใหญ่เต็มวัยแล้ว มีกระดูกโครงสร้างที่แข็งแรงแล้ว เข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด
อย่างไรก็ตามการผ่าตัดในอดีตนั้นทำได้โดยการตัดกระดูกอ่อนออกบางส่วน แล้วยึดติดกับกระดูกหน้าอก แต่จากนวัตกรรมการผ่าตัดในยุคปัจจุบัน เราใช้การผ่าตัดโดยการทำให้โลหะดันกระดูกสันอกลงไปหรือที่เรียกว่า Reverse Nuss bar procedure ซึ่งทำตรงกันข้ามกับการผ่าตัดอกบุ๋มนั่นเอง
สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการเข้ารับการรักษาโรคนี้สามารถเข้ามาปรึกษาได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก “ผ่าตัดปอด”
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,813 วันที่ 28 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2565