"โอมิครอน BA.2.75.2" กลายพันธุ์มาอย่างไร น่ากลัวแค่ไหน อ่านเลย

15 ก.ย. 2565 | 01:35 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ย. 2565 | 08:37 น.

โอมิครอน BA.2.75.2 กลายพันธุ์มาอย่างไร น่ากลัวแค่ไหน อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หลังศูนย์จีโนมทางการแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขยืนยันผบผู้ป่วยรายแรกในไทย

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

ไทยพบไวรัส BA.2.75.2 สายพันธุ์ย่อยใหม่เป็นรายแรกแล้ว ยังไม่ทราบความรุนแรงในการก่อโรค

 

นับตั้งแต่ประเทศไทยพบไวรัสสายพันธุ์หลักโอมิครอนเป็นรายแรกเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 (ชาวต่างชาติ)

 

ไวรัสโอมิครอนซึ่งมีความสามารถในการแพร่ระบาดเร็วกว่าไวรัสสายพันธุ์เดลตา จึงใช้เวลาเพียงสามสัปดาห์ก็ขึ้นมาเป็นสายพันธุ์หลัก แซงเดลตาสำเร็จ ที่ 66.5 %

 

และใช้เวลาประมาณสองเดือน คือในกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ก็พบไวรัสโอมิครอนในผู้ติดเชื้อเกือบทั้งหมดคือ  97.85 %

 

เราพบลักษณะของไวรัสโอมิครอนว่า มีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อย(Sub-variant)ได้รวดเร็วและหลากหลายมาก

 

ชนิดสายพันธุ์ย่อยสำคัญที่พบในประเทศไทยในช่วงแรก จะเป็น BA.1 แล้วเปลี่ยนเป็น BA.2 ในขณะนี้เป็น BA.5 ตามลำดับ
 

ต้องถือว่า ณ ปัจจุบันในกลางเดือนกันยายน 2565  BA.5 เป็นสายพันธุ์ย่อยที่พบมากถึง 85%  และ BA.4 พบรองลงมาที่ 13%

 

เนื่องด้วยโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย มีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลานี่เอง จึงทำให้ข้อมูลที่ทันสมัยหรืออัปเดตของชนิดไวรัสที่เกิดขึ้นในโลกและในประเทศไทย จึงมีความสำคัญมากสำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบ

 

ประเทศไทยเราเอง ก็สมควรติดตามเรื่องไวรัสสายพันธุ์ย่อยต่างๆอย่างใกล้ชิด ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบของไทยก็ได้ทำเรื่องนี้อยู่ในระดับที่ดีทีเดียว

 

"โอมิครอน BA.2.75.2" เกิดจากอะไร น่ากลัวแค่ไหน

 

ล่าสุดศูนย์จีโนมทางการแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ก็ได้ออกมายืนยันตรงกันว่า

 

ประเทศไทยได้พบ ไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยรุ่นที่ 3 หรือเจนเนอเรชั่นที่ 3 คือ BA.2.75.2 เป็นรายแรกแล้ว

 

โดยพบในคนไทยอายุ 73 ปี ตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2565

 

โดยไวรัสดังกล่าว กลายพันธุ์มาจาก BA.2.75 ซึ่งกลายพันธุ์มาจาก BA.2 อีกต่อหนึ่ง จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นไวรัสรุ่นที่ 3 หรือเจนเนอเรชั่นที่ 3 ก็ได้

 

มีลักษณะเด่นคือ มีจำนวนตำแหน่งสารพันธุกรรมที่แตกต่างจากไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่นมากถึง 95-100 ตำแหน่ง
 

ในทางวิชาการมีการเปรียบเทียบว่ามีความสามารถในการแพร่ (RGA : Relative Growth Advantage) เร็วกว่า BA.5 ราว 90% และ BA.4 ราว 148 %

 

โดยตำแหน่งหลักที่สำคัญที่เปลี่ยนแปลงคือ  346 , 486 และ 1199

 

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า ไวรัสสายพันธุ์ย่อยดังกล่าวนี้ จะก่อให้เกิดความรุนแรง ทำให้ป่วยหนักและเสียชีวิตมากน้อยเพียงใด

 

จึงยังไม่จำเป็นจะต้องวิตกกังวลเรื่องนี้มากนัก แต่ก็ไม่ควรประมาท เพราะเมื่อยังไม่ทราบว่ารุนแรงมากหรือน้อย

 

ก็แปลว่าอาจจะรุนแรงน้อย ที่ทำให้สบายใจได้ หรือรุนแรงมากที่ทำให้ต้องเตรียมรับมือด้วยเช่นกัน