เศรษฐศาสตร์กับสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยภายใต้“ความตกลงปารีส”

21 ก.ย. 2565 | 06:47 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ย. 2565 | 14:19 น.

เศรษฐศาสตร์กับสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยภายใต้“ความตกลงปารีส” : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯ ทัศนะ โดย...รศ.ดร.ธันยพร จันทร์กระจ่าง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3820

เรื่องของสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องวิทยาศาสตร์ หากยังเกี่ยวโยงไปถึงพฤติกรรมมนุษย์ ที่มีปฎิสัมพันธ์กันต่อเนื่อง ส่งผลกระทบภายนอกแก่กันและกัน ไม่ใช่เพียงแต่ระหว่างผู้คนและสังคมที่จำกัดอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบอย่างไม่มีพรมแดนไปถึงผู้คนและสภาวะแวดล้อมทั่วโลก ที่ผ่านมา เราจึงเห็นความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อบรรเทาและช่วยกันไขแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 


“ความตกลงปารีส” หรือ Paris Agreement ที่เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2015 นับเป็นความร่วมมือในระดับนโยบายระหว่างประเทศล่าสุด ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และมาแทนที่ “พิธีสารเกียวโต” หรือ Kyoto Protocol ที่ตกลงกันเมื่อปี ค.ศ. 1997 และมีผลเริ่มใช้ในปี ค.ศ. 2005 ค่ะ  ซึ่ง “ความตกลงปารีส” มีความน่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับ “พิธีสารเกียวโต” ซึ่งมีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ 

“ความตกลงปารีส” เป็นเพียงความตกลงตามความสมัครใจของแต่ละประเทศเท่านั้น แต่ก็มีประเทศเข้าร่วมเป็นภาคีถึง 196 ประเทศ (98%) ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในความสำเร็จทางการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่สำคัญมากที่สุดก็ว่าได้ แต่เนื่องจากความตกลงเป็นเพียงจากความสมัครใจ เราจึงเห็นประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาก็ได้ถอนตัวจาก “ความตกลงปารีส” ไปในปี ค.ศ. 2020 แล้วก็กลับเข้ามาใหม่ในปีต่อมา ฉะนั้น ความสำเร็จของ “ความตกลงปารีส” จึงขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นและการลงมือปฎิบัติโดยสมัครใจของแต่ละประเทศเลยทีเดียวค่ะ 


ในวันนี้ผู้เขียนจึงขออนุญาตมาเล่าสู่กันฟังว่า ที่ผ่านมา 7 ปี ซึ่งถือว่ายังเป็นระยะเวลาที่สั้นในการแก้ไขปัญหาระยะยาวอย่างสิ่งแวดล้อม เราสามารถวิเคราะห์ความมุ่งมั่นและการปฎิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ผ่าน “ความตกลงปารีส” ในมุมมองจากประเทศไทยได้อย่างไรบ้าง โดยสรุปจากงาน An Analysis of Paris Agreement: Commitments versus Performances in Thailand and Vietnam ที่วิจัยโดย ผู้เขียน, รศ.ดร.เขมรัฐ เถลิงศรี และ S. Niggol Seo ใน Handbook of Behavioral Economics and Climate Change ค่ะ

สาระสำคัญของ “ความตกลงปารีส” คือ การที่ประเทศต่างๆ ตั้งเป้าหมายร่วมกันที่จะรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส โดยคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละประเทศที่แตกต่างกันโดยเฉพาะระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา และในทุกๆ 5 ปี รัฐภาคีต่างๆ ต้องมีการยื่นข้อเสนอการดำเนินการที่เรียกว่า Intended Nationally Determined Contributions (INDs) ค่ะ   


สำหรับประเทศไทย รัฐบาลไทยได้กำหนดเป้าหมายเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20-25 ภายในปี ค.ศ. 2030 ผ่านการดำเนินการทางด้านต่างๆ เช่น พลังงาน ขนส่ง ป่าไม้ อีกทั้งยังจะใช้กลไกทางการตลาดเข้ามาช่วยด้วยค่ะ ซึ่งอันที่จริงแล้ว INDs ของเรา ก็มีพื้นฐานมาจากและมีการรองรับโดยแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ค.ศ. 2015 -2050 ซึ่งเป็นแผนระยะยาว 36 ปี เพื่อบูรณาการภาคส่วนต่างๆ เข้าด้วยกันในการบรรลุเป้าหมายทั้งในระดับชาติและนานาชาติค่ะ 


หนึ่งในแนวทางที่ประเทศไทยทำเพื่อนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก็คือ การใช้พลังงานทดแทน แทนการใช้พลังงานจากฟอสซิล ซึ่งตามแผนแม่บทฯ มีการตั้งเป้าไว้ว่าในระยะกลางจะมีการใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น จากลม น้ำ และแสงอาทิตย์ เป็นร้อยละ 25 ของพลังงานทั้งหมด

                               เศรษฐศาสตร์กับสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยภายใต้“ความตกลงปารีส”

จากข้อมูลเราพบว่า ในปี ค.ศ. 1990 และ 2015 มีการใช้พลังงานหมุนเวียนถึงร้อยละ 30 และ 22 จึงนับได้ว่าในแง่มุมของการใช้พลังงานสะอาดมาทดแทน ประเทศไทยมีการปฏิบัติจริงซึ่งตรงหรือไม่ห่างจากเป้าหมายมากนัก และน่าที่จะบรรลุเป้าหมายในระยะกลางได้ไม่ยากค่ะ


นอกจากนั้น ประเทศไทยยังมีเป้าหมายระยะยาวในแผนแม่บทฯ ที่จะลดความเข้มข้นการใช้พลังงาน (energy intensity) หรือการใช้ พลังงานต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศลงร้อยละ 25 ซึ่งสามารถประเมินได้โดยการวัดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่าที่ปล่อยมาต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (carbon intensity) ถ้าค่านี้ลดลงก็มีนัยว่ากิจกรรมการผลิตภายในประเทศส่งผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลงได้ค่ะ 


จากการวิเคราะห์ข้อมูล เราพบว่า ในปี ค.ศ. 2000 carbon intensity ในประเทศไทยมีค่า 0.4 หรือมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 400 ตัน ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศมูลค่า 1000 เหรียญสหรัฐ ซึ่ง carbon intensity ก็ได้ลดลงอย่างมากจนกระทั่งในปี ค.ศ. 2016 เหลือค่าเพียง 0.25 หรือมีการลดลงถึงร้อยละ 37.5 ซึ่งถ้าประเทศไทยยังคงพฤติกรรมนี้ได้ในระยะยาว ก็คงจะบรรลุเป้าหมายการลดความเข้มข้นการใช้พลังงาน ที่มีนัยถึงการลดก๊าซเรือนกระจกได้ไม่ยากเช่นกันค่ะ 


นอกจากนั้น เราพบว่าในบริบทของป่าไม้ หลังจากปี ค.ศ. 2000 พื้นที่ป่าไม้สีเขียวในประเทศไทยในภูมิภาคต่างๆ ไม่ได้เผชิญกับแนวโน้มที่จะลดลงอย่างมากดังที่เห็นก่อนหน้าปี ค.ศ. 2000 แต่กลับเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มในระยะยาวที่คงตัว เป็นเพราะนโยบายอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ที่เข้มแข็ง

 

อีกทั้งยังมีการขยายพื้นที่สีเขียวร่วมกันระหว่างภาครัฐและชุมชน ซึ่งก็เป็นสัญญาณที่ดีว่าเรามีการเก็บกักคาร์บอนในป่าไม้ (forest carbon sink) ที่น่าจะเพิ่มขึ้นในอนาต ซึ่งสามารถใช้เป็นอีกมาตรวัด และยังเป็นเครื่องมือเพิ่มการลดก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย เช่น ผ่านการใช้กลไกคาร์บอนเครดิต ซึ่งอนุญาตให้ซื้อขายคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านกลไกลตลาดได้ และรองรับโดย “ความตกลงปารีส” ด้วย อย่างเช่นตาม INDs ของประเทศบราซิลค่ะ 


ถึงแม้ว่าใน “ความตกลงปารีส” ไม่ได้มีการกล่าวถึงมลภาวะทางอากาศโดยตรง แต่เราก็อาจถือได้ว่ามีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และในหลายจังหวัดในประเทศไทยก็ประสบปัญหานี้ เช่น ปัญหาฝุ่นจิ๋ว เป็นที่น่าสนใจว่าถึงแม้ว่าจะมีการให้ความสนใจในปัญหาฝุ่นจิ๋วมากขึ้นในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา

 

แต่หากเรานำข้อมูลมลพิษทางอากาศระยะยาวตั้งแต่ปี ค.ศ. 1996 มาวิเคราะห์ เรากลับพบว่ามีการลดลงของปริมาณก๊าซพิษในอากาศ เช่น คาร์บอนมอนนอกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ รวมถึงฝุ่นจิ๋วอย่างต่อเนื่องค่ะ 


ฉะนั้น จากการศึกษานี้ เราอาจสรุปได้ว่าที่ผ่านมา 7 ปีนั้น ประเทศไทยของเราได้มีการดำเนินนโยบายและการลงมือปฏิบัติจริงซึ่งอยู่บนทางที่นำไปสู่เป้าหมายที่ได้ยื่นไว้ภายใต้ “ความตกลงปารีส” และเราน่าที่จะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายได้ไม่ยากค่ะ แต่ทั้งนี้ ความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นไม่สามารถเกิดได้โดยการขับเคลื่อนโดยนโยบายภาครัฐ และการดำเนินการจากรัฐบาลหรือภาคการผลิตแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ที่สำคัญ ยังขึ้นอยู่กับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันต่อสิ่งแวดล้อมของพวกเราทุกคนด้วยนะคะ


เอกสารอ้างอิง:
Chankrajang, Thanyaporn, Khemarat Talerngsri-Teerasuwannajak, and S. Niggol Seo. "An analysis of the Paris Agreement: commitments versus performances in Thailand and Vietnam." In Handbook of Behavioral Economics and Climate Change, pp. 331-344. Edward Elgar Publishing, 2022.