นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ช่วงสัปดาห์ที่ 45 วันที่ 6-12 พฤศจิกายน 2565 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคโควิด 19 รวม 3,166 ราย เฉลี่ย 452 รายต่อวัน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 12.8% มีผู้เสียชีวิต 42 ราย
โดยแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะพื้นที่ท่องเที่ยว ขณะที่ผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตเริ่มเพิ่มขึ้นอีกครั้ง อาจเป็นผลจากอากาศเริ่มเปลี่ยนแปลง ประชาชนมีกิจกรรมรวมกลุ่มจำนวนมาก ทั้งนักเรียนเปิดเทอม การเดินทางท่องเที่ยว สังสรรค์
รวมถึงบางส่วนเริ่มผ่อนคลายการสวมหน้ากาก ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์ว่าการติดเชื้ออาจจะสูงขึ้นอีกในช่วงปลายปีที่มีกิจกรรมและงานรื่นเริงช่วงใกล้เทศกาล
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งโครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด 19 มีเป้าหมายไม่น้อยกว่า 2 ล้านโดส ภายในเดือนธันวาคม 2565 เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะเด็กเล็กและเข็มกระตุ้นในกลุ่ม 608 เพื่อลดความเสี่ยงต่อการป่วยหนักและเสียชีวิต
นอกจากนี้ ได้ประสานเครือข่ายต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนสะดวกที่สุด เช่น สมาคมโรงพยาบาลเอกชนให้ช่วยบริการวัคซีนในวันหยุด, สำนักงานประกันสังคมเพื่อเร่งฉีดเข็มกระตุ้นในผู้ประกันตน และโรงพยาบาลสังกัดทหารหรือตำรวจเพื่อฉีดวัคซีนให้บุคลากร โดยมอบหมายกองตรวจราชการกำกับ ติดตาม และสนับสนุนการบริการฉีดวัคซีนในพื้นที่
ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด 19 สะสม 143.7 ล้านโดส แยกเป็น
ส่วนโครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนตามเป้าหมาย 2 ล้านโดสทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2565 ขณะนี้ผ่านมา 2 สัปดาห์ มีประชาชนเข้ารับวัคซีนเพิ่มขึ้น 1.9 แสนโดส ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม อสม.และกลุ่ม 608 โดย 3 เขตสุขภาพที่ฉีดวัคซีนสูงสุด คือ เขตสุขภาพที่ 6, 5 และ 4 ส่วน 3 จังหวัดสูงสุด คือ ชลบุรี นครราชสีมา และสมุทรสาคร ตามลำดับ
นพ.สุเทพ กล่าวว่า ภาพรวมการฉีดวัคซีนยังคงต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ จึงเร่งสื่อสารให้ทุกจังหวัดทำแผนและเป้าหมายการฉีดวัคซีนสู่ระดับอำเภอ ทำระบบรายงานผลประจำวันรายหน่วยบริการ เน้นเชิญชวน ค้นหา ติดตามคนที่ยังไม่ได้ฉีดจนถึงระดับหมู่บ้าน โดย อสม.ร่วมกับกำนัน/ผู้ใหญ่บ้านลงพื้นที่ด้วยกัน และอำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้ามารับวัคซีนให้มากที่สุด อาทิ จัดตั้งหน่วยบริการฉีดวัคซีนนอกสถานพยาบาล บริการฉีดวัคซีนถึงบ้านให้กับกลุ่ม 608 และผู้ป่วยติดเตียง
ทั้งนี้ยืนยันว่า มีวัคซีนเพียงพอ เข้าถึงได้ง่าย ขอให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่ม 608 ที่ฉีดเข็มล่าสุดมากกว่า 4 เดือนขึ้นไปมารับเข็มกระตุ้นที่หน่วยบริการวัคซีนใกล้บ้าน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมยาต้านไวรัส เวชภัณฑ์ วัคซีน รวมทั้ง LAAB ไว้เพียงพอเพื่อรองรับการระบาดของโรค ขณะที่สถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ มีความพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย