ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุว่า
ทีมวิจัยในเยอรมันได้เผยแพร่ผลวิจัยที่ทดสอบประสิทธิภาพของ ATK 2 ยี่ห้อในการทดสอบตัวอย่างของผู้ติดเชื้อโควิดในช่วงโอมิครอนระบาดจำนวน 428 ตัวอย่าง
โดย 80.77% เป็น BA.5 15.38% เป็น BA.2 และ 3.70% เป็น BA.4 พบว่า
ในตัวอย่างที่นำมาศึกษามีค่า Viral load ที่ตรวจด้วย RT-PCR ที่แตกต่างกัน มากสุดสูงได้ถึงมากกว่า 10^8
และต่ำสุดอยู่ที่ ต่ำกว่า 10^3 โดย ATK 2 ยี่ห้อนี้มีความแตกต่างกันในด้านประสิทธิภาพเล็กน้อย
แต่ถือว่าผลค่อนข้างออกไปในทางเดียวกัน ทีมวิจัยพบว่า ในตัวอย่างที่มี Viral load สูงกว่า 10^6
ความสามารถในการตรวจพบด้วย ATK สูงมากกว่า 80% แล้วแต่ยี่ห้อที่ใช้
โดยบางยี่ห้อสามารถตรวจพบได้เกือบ 100% ที่ปริมาณไวรัสระดับนี้
โดยค่าต่ำสุดที่ ATK อาจไม่สามารถตรวจพบได้อย่างมีความแม่นยำที่เชื่อถือได้คือต่ำกว่า 10^3
เมื่อลองนำค่า Viral load มาแปลงเป็น Ct คร่าวๆในกราฟจะเห็นว่า 10^6 คือ Ct ประมาณ 25 และ 10^3 จะประมาณ 35
ซึ่งจากตัวเลขนี้ก็สามารถประมาณคร่าวๆได้ว่า ATK ที่ได้มาตรฐานจะมีความสามารถตรวจไวรัสโอมิครอน BA5
และอื่นๆได้ในช่วง Ct น้อยกว่า 25 - ไม่เกิน 35 ซึ่งถือว่าเป็นค่าที่มีประโยชน์ต่อการประเมินสภาวะปริมาณไวรัสในร่างกาย
ประเด็นที่หลายคนอาจสงสัยคือ ปริมาณไวรัสเท่าไหร่ที่ยังแพร่เชื้อต่อได้ ไม่ใช่ตรวจซากเชื้อ
ข้อมูลจาก CDC ที่รายงานออกมาระบุว่า ถ้าใช้ Ct เป็นตัวประเมินจะพบว่า
ไวรัสในกลุ่มโอมิครอนมีความแตกต่างจากไวรัสช่วงก่อนโอมิครอนชัดเจน กล่าวคือ
ในช่วงก่อนโอมิครอนถ้าตรวจ RT-PCR ที่ได้ค่า Ct สูงกว่า 25 หรือ เกิน 30 โอกาสที่จะได้ไวรัสที่เพาะเลี้ยงต่อได้จะมีน้อยมากๆ
แต่สำหรับไวรัสโอมิครอน ค่า Ct ต่ำสุดที่จะเป็นตัวกำหนดความสามารถในการเพาะเชื้อจะสูงขึ้น
ซึ่งจากข้อมูลจะพบว่าอะไรที่ต่ำกว่า Ct 35 ยังมีโอกาสแพร่เชื้อได้
ดังนั้นจากตัวเลขที่ลองประเมินดู การใช้ ATK ในการประเมินความเสี่ยงของการแพร่กระจายเชื้อยังมีประโยชน์อยู่
แต่ข้อแม้ที่สำคัญคือ ATK ต้องมีประสิทธิภาพได้มาตรฐาน และการตรวจต้องทำได้ถูกวิธี
ถ้าเป็นไปได้ควรตรวจมากกว่า 1 ยี่ห้อหากมีความสงสัย
การนับวันกักตัวไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน เพราะการตอบสนองต่อไวรัสไม่เท่ากัน