“มิตรไมตรีการแพทย์” หรือที่หลายคนคุ้นเคยในชื่อของ “มิตรไมตรีคลินิก” คลินิกเวชกรรมที่ประชาชนสามารถเข้ารับการรักษาผ่านโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง รวมถึงดูแล รักษาผู้ป่วยทั่วไป เป็นระยะเวลามากว่า 27 ปี จนปัจจุบันมีอยู่ถึง 70 สาขาทั่วประเทศ
ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ความต้องการด้านสาธารณสุข การเข้าถึงการดูแลสุขภาพที่หลากหลาย ทำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต้องปรับตัว เช่นเดียวกับ “มิตรไมตรีการแพทย์” ที่ประกาศทรานส์ฟอร์มองค์กรครั้งใหญ่ ภายใต้การนำของทายาทรุ่นที่ 2 อย่าง “วรศักดิ์ มานิตย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มิตรไมตรีการแพทย์ จำกัด
“วรศักดิ์ มานิตย์” เล่าให้ “ฐานเศรษฐกิจ” ฟังว่า หลังเข้ารับไม้ต่อเมื่อ 3 ปีก่อน ความท้าทายช่วงแรกคือ การปรับเปลี่ยนมายด์เซ็ตขององค์กร จากธุรกิจครอบครัว สู่ความเป็นมืออาชีพ ด้วยการใส่ระบบ มาตรฐานต่างๆ เข้าไป โดยตลอด 2 ปีที่ผ่านมาเพื่อให้มีบริการและการตรวจสอบที่ดีขึ้น โดยกำหนดเป็นมาตรฐานจากเดิมที่คุณพ่อ ลงพื้นที่ตรวจสอบเอง ความท้าทาย ช่วงที่ 2 เป็นการต่อยอดจากองค์ความรู้ที่มีมากมาย จากชุมชน บุคลากรที่มีอยู่ โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาถือเป็นการทรานส์ฟอร์มองค์กรครั้งใหญ่
เริ่มต้นด้วยการจับมือกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการแพทย์และผลิตบุคคลากรเพื่อรองรับความต้องการของตลาดด้านเฮลท์แคร์ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยปัจจุบันพบว่าพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยในช่วงที่ผ่านมา หันมาใส่ใจในเรื่องของสุขภาพ การดูแล ป้องกันมากกว่าการรักษา ทำให้เทรนด์การดูแลสุขภาพ หรือเวลเนส มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดเป็นตัวเลข 2 หลักทุกปี เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพหรือ Medical Tourism ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากของกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ญี่ปุ่น ยุโรป และรัสเซีย
ล่าสุดบริษัทเปิดให้บริการ “ลา มิตรา โฮลิสติก เวลเนส เซ็นเตอร์” (La Mitra Holistic Wellness Center) ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ศูนย์เสริมสร้างสุขภาพแบบองค์รวม ดูแลทุกมิติ พร้อมทุกจังหวะความสุขของชีวิต Reboot your health Reset your life” ด้วยงบลงทุน 35 ล้านบาท เพื่อให้เป็นเดสติเนชั่นด้านการฟื้นฟูสุขภาพและความงามแบบครบวงจร เพื่อรองรับลูกค้าทั้งไทยและต่างชาติ
โดยเฉพาะการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ (Medical & Wellness Tourism) ที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน และไทยถือเป็นตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอันดับที่ 15 ของโลก และอันดับ 4 ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รองจากจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย โดยลา มิตราฯ สาขาแรกตั้งอยู่โซนนนทบุรี-เมืองทองธานี เปิดให้บริการเมื่อกลางเดือนก.พ. ที่ผ่านมา และมีแผนขยายสาขาเพิ่มในปีหน้าอีก 1 แห่งในโซนซีบีดี และสาขา 3 ในหัวเมืองใหญ่
“จุดเด่นของลา มิตราฯ คือ ความร่วมมือของทีมบริหารของกลุ่มมิตรไมตรีการแพทย์ที่มีประสบการณ์และอาจารย์แพทย์ผู้สอนหลักสูตรเวชศาสตร์ชะลอวัย เพื่อให้บริการสุขภาพแบบองค์รวม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูความเสื่อมของสุขภาพที่ต้นเหตุ ครอบคลุมเวชศาสตร์ป้องกัน เวชศาสตร์ชะลอวัย ศูนย์กายภาพบำบัด เวชศาสตร์ความงาม ผ่านบริการต่างๆ ที่ออกแบบโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ
อาทิ Precision Investigation and functional medicine approach การรักษาแบบแม่นยำและจำเพาะ โดยอาศัยข้อมูลทางพันธุกรรมหรือข้อมูลในระดับโมเลกุล, Personalized Metabolism & Nutrition สารอาหารเฉพาะบุคคล ออกแบบโภชนาการแบบ Tailored made ให้คำแนะนำทางโภชนาการที่เฉพาะเจาะจงของแต่ละบุคคล, Cell Rejuvenation Program โปรแกรมซ่อมแซมเซลล์ที่เสื่อมสภาพของร่างกายฟื้นฟูความเจ็บป่วยที่เกิดจากการเสื่อมโทรมของร่างกาย เป็นต้น”
นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนขยาย “มิตรไมตรีคลินิก” เพิ่มอีก 1-2 สาขาในปีนี้ ถือเป็นการกลับมาลงทุนอีกครั้งในรอบ 3 ปี หลังจากที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องชะลอการลงทุน โดยสาขาใหม่นี้จะเปิดให้บริการภายในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อศึกษาและขยายฐานกลุ่มลูกค้าใหม่ในกลุ่ม B2B
เช่น บริษัท องค์กร โรงงาน ฯลฯ รวมทั้งเป็นการศึกษาความต้องการของผู้บริโภคและใช้เป็นข้อมูลในการขยายธุรกิจและบริการเพื่อรองรับลูกค้าให้หลากหลายยิ่งขึ้น จากปัจจุบันที่จะเน้นการพึ่งพารายได้จากโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทองของภาครัฐเป็นหลัก
“ปัจจุบันมิตรไมตรีคลินิกมีสาขารวม 70 สาขา โดยอยู่ในกรุงเทพฯ 4-5 สาขา ที่เหลืออยู่ในปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียง โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าจากบัตรทอง ซึ่งแนวทางการขยายสาขานับจากนี้จะขยายฐานลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการลดการพึ่งพารายได้จากบัตรทอง โดยบริษัทจะต่อยอดจากฐานลูกค้าที่มาใช้บริการซึ่งมีอยู่กว่า 1.5 ล้านคน ซึ่งกลุ่มที่แอคทีฟจะเป็นลูกค้าบัตรทอง
ส่วนลูกค้าอีกราว 5-6 แสนราย จะเป็นลูกค้าทั่วไปที่ใช้จ่ายเงินสด และถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ มิตรไมตรีฯ ยังมีแผนขยายธุรกิจที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญและชำนาญ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ การนำเทคโนโลยีมาช่วยด้านการบริการเช่น เทเลเมดิซีน การสร้างคอมมูนิตี้ของคนรักสุขภาพ เป็นต้น”
อีกหนึ่งเป้าหมายของมิตรไมตรีฯ คือการเป็น “เซเว่น สุขภาพ” (7-สุขภาพ) ซึ่ง “วรศักดิ์” ขยายความให้ฟังว่า หากหิวหรือต้องการซื้อของคนจะคิดถึงเซเว่น อีเลฟเว่น ดังนั้นหากคนคิดถึงสุขภาพ ป่วยไข้ ก็อยากให้คิดถึง “มิตรไมตรี” เป้าหมายของมิตรไมตรีจึงอยากเป็น เซเว่น สุขภาพ ให้ลูกค้าเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างง่ายดาย และมีบริการที่หลากหลาย
“วรศักดิ์” บอกอีกว่า อีกหนึ่งแผนงานที่อยู่ในระหว่างการศึกษาและพัฒนาคือ ศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง โดยตั้งเป้าหมายที่จะมีศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านทันตกรรม กระดูก ฯลฯ 3-4 ศูนย์ภายใน 5 ปีนับจากนี้ นอกจากนี้ในปี 2567 บริษัทยังมีแผนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วย โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเงินมาขยายการลงทุนในโมเดลใหม่ๆ ต่อไป
สำหรับผลประกอบการของบริษัทในปีที่ผ่านมา มีรายได้ราว 960 ล้านบาท โดยในปีนี้ตั้งเป้าหมายที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ล้านบาท เติบโตขึ้น 7-10% หลังจากกลับมาขยายการลงทุนอีกครั้ง
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,871 วันที่ 19 - 22 มีนาคม พ.ศ. 2566