จากกรณี นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ออกมาเปิดเผยถึงข้อร้องเรียนจากผู้ประกันตน ว่า ผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมใช้สิทธิเบิกค่ารักษาทันตกรรมที่จำเป็น ได้น้อยกว่าประชาชนทั่วไปในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) และระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ ไม่ครอบคลุมชนิดของบริการและค่าใช้จ่ายที่จำเป็น แตกต่างจากผู้มีสิทธิในอีกสองระบบที่สามารถเบิกได้ตามความจำเป็น ทั้งที่ผู้ประกันตนเป็นกลุ่มเดียวที่กฎหมายกำหนดให้ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนทุกเดือน
ล่าสุดเพจ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน / Social Security Office ได้โพสต์ข้อความชี้แจงถึงสิทธิประกันสังคม ด้านทันตกรรม ว่าไม่ได้ด้อยกว่า สิทธิกองทุนสุขภาพอื่นๆแต่อย่างใด พร้อมอธิบายต่อไปว่า ปัจจุบันสิทธิทันตกรรมของสำนักงานประกันสังคม เป็นสิทธิเดียวในสามกองทุนสุขภาพที่สามารถเข้ารับบริการได้ในสถานพยาบาลหรือคลินิกเอกชน ที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ สามารถรับบริการได้ทันที ไม่ต้องมีการนัดหมายล่วงหน้า ไม่ต้องสำรองจ่าย
พร้อมชี้แจงไทม์ไลน์ของการพัฒนาปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตน ตั้งแต่ปี 2549 สำนักงานประกันสังคมเคยปรับระบบให้ผู้ประกันตนสามารถใช้บริการทันตกรรม ในสถานพยาบาลตามสิทธิ ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ไม่มีค่าใช้จ่ายส่วนเกินมาแล้ว แต่ผู้ประกันตนเข้าไม่ถึงสิทธิ รอคิวนาน
เสียงส่วนใหญ่ของผู้ประกันตนได้เรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคมกลับมาจัดบริการในลักษณะกำหนดวงเงิน แต่ไปรับบริการที่ไหนก็ได้ ในปี 2566 มีสถานพยาบาลที่ทำความตกลงร่วมกับสำนักงานประกันสังคมกว่า 13,000 แห่ง
ในขณะที่สิทธิในระบบประกันสุขภาพอื่น จะต้องใช้บริการในหน่วยบริการของรัฐ ถึงแม้ว่าจะไม่จำกัดจำนวนครั้ง แต่ไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก ต้องมีการนัดหมายล่วงหน้า และต้องเข้ารับบริการในเวลาราชการเท่านั้น
จากข้อมูลการสำรวจการเข้ารับบริการสุขภาพช่องปากของคนไทย โดยสำนักสถิติแห่งชาติร่วมกับ สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม เข้าถึงบริการด้านทันตกรรมมากกว่าสิทธิบัตรทอง และเมื่อเปรียบเทียบการใช้สิทธิของแต่ละกองทุน พบว่า ผู้ประกันตนมีการใช้สิทธิมากที่สุด
ในปี 2566 มีผู้ประกันตนใช้บริการในสถานพยาบาล หรือคลินิกเอกชนสูงถึง ร้อยละ 90 และรับบริการในสถานพยาบาลของรัฐเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น
ในปี 2567 นี้ สำนักงานประกันสังคมจัดโครงการรถทันตกรรมเคลื่อนที่ ลงพื้นที่ให้บริการแก่ผู้ประกันตนในสถานประกอบการ เพื่ออำนวยความสะดวกเพิ่มการเข้าถึงการบริการทันตกรรมอย่างมีคุณภาพ และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาใช้บริการของผู้ประกันตน
สามารถเข้ารับบริการทันตกรรมที่สถานพยาบาลใดก็ได้ โดยสำรองจ่ายแล้วยื่นเรื่องเบิกในภายหลัง หากเป็นกรณี ถอนฟัน, อุดฟัน, ขูดหินปูน, ผ่าฟันคุด ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการ ณ สถานพยาบาลที่ทำข้อตกลงกับสำนักงานประกันสังคม แต่หากมีค่าบริการทางการแพทย์ที่นอกเหนือจากอัตราสิทธิที่กำหนด ผู้ประกันตนต้องจ่ายส่วนเกินให้กับสถานพยาบาล
1. ถอนฟัน, อุดฟัน, ขูดหินปูน, ผ่าฟันคุด สามารถเบิกได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น ในอัตราไม่เกิน 900 บาทต่อปี
2. ฟันเทียมชนิดถอดได้บางส่วน (ฐานโลหะ , ฐานอะคริลิค , ฐานพลาสติก )
3. กรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปากบนหรือปากล่าง , กรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปากบนและปากล่าง (ฐานโลหะ , ฐานอะคริลิค , ฐานพลาสติก )
สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 สำนักงานประกันสังคมไม่ได้คุัมครองกรณีทันตกรรม ให้ใช้สิทธิการรักษาพยาบาลของบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง)
อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ใช้เฟสบุ๊ก แสดงความเห็นใต้โพสต์ดังกล่าวจำนวนมาก เช่น ผ่าฟันคุดที่ไหนได้ในราคา 900 บาท , บัตรทองทำฟันฟรี กี่ครั้งก็ฟรี ประกันสังคมจ่ายเงินเอง ได้สิทธิ์ 900 บาท ต่อปี แค่ไปอุดฟันซี่เดียวก็หมดแล้ว เอาอะไรมาบอกไม่ด้อยไปกว่าสิทธิ์อื่น ,ทันตกรรม 900 ต่อปี จะไม่เพียงพอสำหรับ ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยทางทันตกรรมต่างๆ และมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคหลอดเลือด ซึ่งส่วนใหญ่ ทางคลีนิคทำฟัน จะไม่รับทำฟัน ทั้งขูดหินปูน ถอนฟัน ผู้ประกันตนต้องเข้า รพ.ตามสิทธิ
ซึ่งหากเป็น รพ.เอกชน การทำทันตกรรม ก็ไม่ใช่ 900 บาท ราคาจะอยู่ที่ 1,500 -2,200 ส่วนนี้ผู้ประกันตนจะต้องชำระเพิ่มเอง แต่สิทธิอื่นๆของรัฐที่มีอยู่นั้น ที่มองว่าดีกว่าประกันสังคม เพราะว่า สิทธิของรัฐอื่นๆนั้น ประชาชนไม่ต้องจ่ายเงิน ไม่ต้องนำส่งเงินสมทบใดๆ แต่ของประกันสังคม จะต้องนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนถึงจะได้สิทธิ