เปิดสถิติคนไทย “กินหมูดิบ-อาหารไม่ปรุงสุก” ป่วย-ตายด้วยโรคไข้หูดับพุ่ง

27 พ.ค. 2567 | 06:54 น.

สภาพัฒน์ เปิดรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 1/2567 สถิติการป่วยและเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น จากการกินหมูดิบ-อาหารที่ไม่ปรุงสุก ป่วยด้วยโรคไข้หูดับ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 1/2567 ในประเด็นที่เกี่ยวกับ “สุขภาพและการเจ็บป่วย” ที่ระบุตอนหนึ่งว่า  การเฝ้าระวังพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ปรุงสุก เสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้หูดับ โดยเนื้อหาของส่วนนี้ระบุว่า 

เปิดสถิติคนไทย “กินหมูดิบ-อาหารไม่ปรุงสุก” ป่วย-ตายด้วยโรคไข้หูดับพุ่ง

การเฝ้าระวังพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ปรุงสุกเสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้หูดับ ซึ่งอาจเสียชีวิตได้โดยเฉพาะพฤติกรรมการกินเนื้อหมูดิบ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้หูดับ

จากข้อมูลของกองระบาดวิทยา ปี 2566 พบว่า มีผู้ป่วยด้วยโรคไข้หูดับจำนวน 607 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีเพียง 383 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (2561 - 2565) โดยผู้ป่วยพบมากที่สุดในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ทั้งนี้ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 4 พฤษภาคม 2567 พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับ 248 ราย และเสียชีวิตแล้ว 14 ราย

เปิดสถิติคนไทย “กินหมูดิบ-อาหารไม่ปรุงสุก” ป่วย-ตายด้วยโรคไข้หูดับพุ่ง

สำหรับการป้องกันสามารถทำได้ ได้แก่ 

  1. ไม่กินหมูที่ป่วย หลีกเลี่ยงการกินเนื้อหมูดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ
  2. การประกอบอาหาร ควรแยกภาชนะและอุปกรณ์สำหรับอาหารดิบและสุกออกจากกัน เช่น เขียง จาน และตะเกียบ ซึ่งปัจจุบันคนไทยนิยมบริโภคหมูกระทะ ชาบู และสุกี้ ควรมีการแยกตะเกียบที่ใช้คีบหมูดิบกับหมูสุกที่รับประทาน หากใช้ตะเกียบอันเดียวกันสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
  3. ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์สัตวแพทย์ ควรแต่งกายให้ปกปิดมิดชิดและล้างมือเมื่อสัมผัสกับหมู 
  4. ผู้จำหน่ายควรรับเนื้อหมูจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐาน 

โดยรายงานภาวะสังคมไทยประเด็นดังกล่าว มีการอ้างอิง ข้อมูลจากรายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง 506 กองระบาดวิทยา กรมรวบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยสถิติจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตด้วยโรคหูดับปี 2561-2566 ระบุว่า

  • ปี 2561 – ป่วย 304 ราย เสียชีวิต 28 ราย
  • ปี 2562 – ป่วย 317 ราย เสียชีวิต 29 ราย
  • ปี 2563 – ป่วย 344 ราย เสียชีวิต 11 ราย
  • ปี 2564 – ป่วย 336 ราย เสียชีวิต 24 ราย
  • ปี 2565 – ป่วย 383 ราย เสียชีวิต 10 ราย
  • ปี 2566 – ป่วย 607 ราย เสียชีวิต 34 ราย


ทั้งนี้ อาการที่บ่งชี้ว่าเป็นโรคไข้หูดับ ถ้าได้รับเชื้อภายใน 3 วัน จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรงคอแข็ง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หูหนวก ให้รีบพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการรับประทานอาหารให้แพทย์ทราบเพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยลดอัตราการหูดับและการเสียชีวิตได้

 

ที่มา : รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 1/2567