thansettakij
สปสช.แจ้งความ 2 คลินิก จ.เชียงใหม่ ปมเบิกค่าบริการเป็นเท็จกว่า7.2แสนบาท

สปสช.แจ้งความ 2 คลินิก จ.เชียงใหม่ ปมเบิกค่าบริการเป็นเท็จกว่า7.2แสนบาท

16 ม.ค. 2568 | 05:55 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ม.ค. 2568 | 06:09 น.

โฆษก สปสช. เข้าแจ้งความเพิ่มคลินิกเอกชน 2 แห่งในจ.เชียงใหม่ ร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรม "30 บาทรักษาทุกที่" หลังตรวจสอบพบหลักฐานส่งเบิกจ่ายค่าบริการเป็นเท็จ ไม่มีการให้บริการจริง ให้ผู้ไม่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมมาบริการแทน ความเสียหายกว่า 7.2 แสนบาท

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะโฆษก สปสช. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 ม.ค.2668 ได้เดินทางไปที่สถานีตำรวจภูธรภูพิงคราชนิเวศน์ (สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์) จ.เชียงใหม่ เพื่อแจ้งความกรณีที่คลินิกเอกชน 2 แห่งใน จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ที่ให้บริการประชาชนผู้มีสิทธิตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่เนื่องจาก สปสช. ได้รับร้องเรียนการประพฤติมิชอบในการประกอบกิจการคลินิกฯ 

คลินิกแห่งแรก พบการประพฤติมิชอบใน 2 กรณีด้วยกัน ประกอบด้วย

กรณีที่ 1 ไม่พบหลักฐานการให้บริการตามที่มีการเรียกเก็บจาก สปสช. โดยหน่วยบริการไม่ส่งเอกสารหลักฐานจำนวน 2,593 ครั้ง 

กรณีที่ 2 คือ การยินยอมให้ผู้ที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพมาดำเนินการแทนในสถานพยาบาล และได้มีการทำการเบิกเงินโดยอ้างว่ามีการแจกชุดตรวจ HIV self–test นอกสถานที่โดยไม่ได้ขออนุญาตจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) รวมถึงผู้ดำเนินการไม่ใช่วิชาชีพ

ขณะที่คลินิกแห่งที่สอง พบการประพฤติมิชอบ 3 กรณี ได้แก่ กรณีที่ 1 ไม่พบหลักฐานการให้บริการตามที่มีการเรียกเก็บจาก สปสช. โดยหน่วยบริการไม่ส่งเอกสารหลักฐาน จำนวน 4,619 ครั้ง 

สปสช.แจ้งความ 2 คลินิก จ.เชียงใหม่ ปมเบิกค่าบริการเป็นเท็จกว่า7.2แสนบาท

กรณีที่ 2 การเบิกค่าใช้จ่ายโดยไม่มีการจัดบริการจริงตามหลักฐานการให้บริการและมีการร้องเรียน โดยมีการร้องเรียนจากผู้รับบริการผ่านสายด่วน สปสช. 1330 จำนวน 2 ราย หลังพบประวัติการยืนยันเข้ารับบริการชุดตรวจ HIV self - test แต่ผู้รับบริการทั้ง 2 ราย ยืนยันว่าไม่ได้เข้ารับบริการดังกล่าว

กรณีที่ 3 การยินยอมให้ผู้ที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพมาดำเนินการแทนในสถานพยาบาล และได้มีการทำการเบิกชดเชยโดยอ้างว่ามีการแจกชุดตรวจ HIV self – test นอกสถานที่โดยไม่ได้ขออนุญาตจาก สสจ. และผู้ดำเนินการไม่ใช่วิชาชีพ

ทพ.อรรถพร กล่าวต่อไปว่า จากการกระทำดังกล่าวของคลินิกทั้ง 2 แห่ง นี้รวมเป็นมูลค่าการเบิกจ่ายกองทุนบัตรทอง ทั้งสิ้นจำนวน 721,200 บาท โดยแบ่งเป็น คลินิกแรก จำนวน 295,300 บาท และคลินิกที่สอง จำนวน 461,900 บาท ทำให้ สปสช.ได้รับความเสียหาย

จึงได้เข้าแจ้งความดำเนินการกับผู้ประกอบการคลินิกซึ่งหลังจากนี้ สปสช. จะทำการขยายตรวจสอบคลินิกต่าง ๆ ในระบบที่พบข้อมูลการเบิกจ่ายมีความผิดปกติต่อไป