ประกันสังคมเอ็มโอยู รพ. 10 แห่ง ผู้ประกันตนเข้าถึงการผ่าตัด 5 กลุ่มโรค

26 ธ.ค. 2565 | 06:47 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ธ.ค. 2565 | 13:50 น.

สำนักงานประกันสังคมเอ็มโอยูสถานพยาบาล 10 แห่ง เพิ่มประสิทธิภาพผู้ประกันตนเข้าถึงการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือทำหัตถการนำร่องในกลุ่ม 5 โรค

วันที่ 26 ธ.ค. 65 สำนักงานประกันสังคม ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงการให้บริการทางการแพทย์กับสถานพยาบาล 10 แห่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ด้วยการผ่าตัดหรือทำหัตถการนำร่องในกลุ่ม 5 โรค

 

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวถึงการทำบันทึกข้อตกลงระหว่างสำนักงานประกันสังคมกับสถานพยาบาลที่มีศักยภาพตามมาตรฐานที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผู้ประกันตนเข้าถึงการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือทำหัตถการนำร่องในกลุ่ม 5 โรค ในวันนี้ มีสถานพยาบาลในระบบประกันสังคมจำนวน 10 แห่ง ร่วมบันทึกข้อตกลงฯ ให้บริการรักษาให้กับผู้ประกันตนตามความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง มีดังนี้

          

สถานพยาบาลให้บริการรักษาด้านหัตถการโรคหัวใจและหลอดเลือด จำนวน 6 แห่ง ได้แก่

 

  • โรงพยาบาลเกษมราษฎร์บางแค กรุงเทพฯ
  • โรงพยาบาลเทพธารินทร์ กรุงเทพฯ
  • โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล หนองแขม กรุงเทพฯ
  • โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพฯ
  • โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล จังหวัดนนทบุรี
  • โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ จังหวัดสมุทรปราการ

          

สถานพยาบาลให้บริการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง จำนวน 1 แห่ง ได้แก่

 

  • สถาบันประสาทวิทยา กรุงเทพฯ

          

สถานพยาบาลให้บริการผ่าตัดนิ่วในไตและถุงน้ำดี จำนวน 1 แห่ง ได้แก่

 

  • โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย

          

สถานพยาบาลให้บริการผ่าตัดมะเร็งเต้านม จำนวน 1 แห่ง ได้แก่

 

  • โรงพยาบาลบางปะกอก 8 กรุงเทพฯ          

สถานพยาบาลให้บริการผ่าตัดก้อนเนื้อที่มดลูก จำนวน 2 แห่ง ได้แก่

 

  • โรงพยาบาลบางปะกอก 8 กรุงเทพฯ
  • โรงพยาบาลราชวิถี กรุงเทพฯ

 

  เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์โดยตรงกับสถานพยาบาลที่ทำบันทึกข้อตกลง โดยผู้ประกันตนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรับบริการแต่อย่างใด

 

สำหรับระยะเวลาดำเนินการเริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2566

 

ทั้งนี้ เมื่อดำเนินโครงการแล้ว สำนักงานประกันสังคมจะติดตามและประเมินผล เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดการบริการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อผู้ประกันตนต่อไป ซึ่งคาดว่า จะมีผู้ประกันตนมาใช้บริการ ทั้งสิ้นจำนวน 7,500 คน