แอสตร้าเซนเนก้า รับแล้ว วัคซีนโควิด มีผลข้างเคียงเสี่ยงเกิดภาวะร้ายแรง

01 พ.ค. 2567 | 05:50 น.

ยักษ์ใหญ่แอสตร้าเซนเนก้า สารภาพเป็นครั้งแรกว่า วัคซีนโควิดชื่อดัง "โควิชีลด์" ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายนั้นมีความเสี่ยงก่อให้เกิดภาวะร้ายแรงอันตราย คือ ลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำได้ หลังถูกฟ้องร้องในสหราชอาณาจักร

อินดิเพนเดนท์ รายงานว่า แอสตร้าเซนเนก้า ได้ยอมรับว่า วัคซีนโควิดของบริษัททำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำแม้ว่าจะเกิดขึ้นได้ยาก

บริษัทยายักษ์ใหญ่ แอสตร้าเซนเนก้า ยอมรับว่า วัคซีนป้องกันโควิดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในชื่อ โควิชีลด์ สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้ยาก รวมถึงลิ่มเลือดและจำนวนเกล็ดเลือดต่ำ

โควิชีลด์ ได้รับการพัฒนาโดยบริษัท อังกฤษ สวีเดน โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และผลิตโดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดียมีการบริหารงานอย่างกว้างขวางใน 150 ประเทศ รวมถึงสหราชอาณาจักรและอินเดีย

การศึกษาบางชิ้นที่ทำระหว่างที่โควิดแพร่ระบาดนั้น พบว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ 60-80% อย่างไรก็ตาม การวิจัยก็พบว่า โควิดชิลด์ อาจทำให้บางคนเกิดลิ่มเลือดซึ่งอาจถึงแก่ชีวิตได้

คดีฟ้องร้องแบบกลุ่มในสหราชอาณาจักร อ้างว่า วัคซีนดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัส เรียกร้องค่าเสียหายสูงถึง 100 ล้านปอนด์แก่เหยื่อประมาณ 50 ราย

ผู้ร้องเรียนรายหนึ่งกล่าวหาว่า วัคซีนทำให้เขาได้รับบาดเจ็บที่สมองอย่างถาวร หลังจากที่เขามีลิ่มเลือดจนทำให้เขาทำงานไม่ได้

แม้แอสตร้าฯ จะโต้แย้งข้อกล่าวอ้างเหล่านั้นแต่ก็ยอมรับเป็นครั้งแรกในเอกสารของศาลฉบับหนึ่งว่า วัคซีนสามารถทำให้เกิด TTS หรือภาวะลิ่มเลือดอุดตัน-ภาวะเกล็ดเลือดต่ำได้ในบางกรณีหรือก็คือ ภาวะที่มีลิ่มเลือดอุดตันและมีเกล็ดเลือดต่ำภายหลังการได้รับวัคซีน

"เป็นที่ยอมรับกันว่า วัคซีนแอสตร้าฯทำให้เกิด TTS ได้ในบางกรณีแต่ไม่ทราบสาเหตุ" ตามการรายงานของเทเลกราฟ

นอกจากนี้ภาวะ TTS ยังสามารถเกิดขึ้นได้หากไม่มีวัคซีนแอสตร้าฯ (หรือวัคซีนใด ๆ ) สาเหตุในแต่ละกรณีจะเป็นเรื่องของหลักฐานจากผู้เชี่ยวชาญซึ่งการยอมรับของแอสตร้าฯ ครั้งนี้ ขัดแย้งกับคำยืนกรานของบริษัทในปี 2003 ที่ว่าไม่ยอมรับว่า TTS เกิดจากวัคซีนในระดับทั่วไป

องค์การอนามัยโลก ยืนยันว่า โควิชีลด์ อาจมีผลข้างเคียงที่คุกคามถึงชีวิตได้ โดยมีรายงานเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ที่หายากมากที่เรียกว่า Thrombosis with Thrombocytopenia Syndrome ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือดที่ผิดปกติและรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับจำนวนเกล็ดเลือดต่ำ ที่ได้รับการรายงานหลักจากฉีดวัคซีนนี้

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้ให้ข้อมูลไว้เมื่อปี 2564 ภาวะ Vaccine-induced immune thrombotic thrombocytopenia (VITT) หรือ Thrombosis with thrombocytopenia syndrome (TTS) เป็นภาวะที่มีลิ่มเลือดอุดตันและมีเกล็ดเลือดต่ำภายหลังการได้รับวัคซีน โดยมีรายงานการเกิดในผู้ป่วยที่มีประวัติได้รับวัคซีนโควิด ชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะของแอสตร้าฯ และ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน

กลไกการเกิดโรคยังไม่ทราบชัดเจน เชื่อว่า อาจเกิดจากการที่มีการรั่วของสาร DNA จากเซลล์ภายหลังได้รับวัคซีนหรือจากสารบางอย่างที่อยู่ในวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ ไปจับกับ Platelet factor 4 (PF4)แล้วกระตุ้นให้เกิดการสร้าง Anti-PF4 autoantibody คล้ายกับในภาวะ Autoimmune heparin-induced thrombocytopenia ผู้ป่วยมักจะมาด้วยอาการแสดงของการอุดตันของหลอดเลือด เช่น ปวดศีรษะ แขนขาอ่อนแรง ปวดท้อง ปวดหลัง เจ็บหน้าอก หายใจติดขัด ขาบวมเจ็บ หรือพบมีจุดเลือดออก