จากเหตุการณ์กราดยิงศูนย์เด็กเล็ก จ.หนองบัวลำพู เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมาซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายสิบราย สร้างความสะเทือนใจให้กับประชาชนคนไทยทั้งประเทศ การฟื้นฟูสภาพจิตใจโดยเฉพาะครอบครัว และผู้อยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง
ล่าสุด กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่เอกสารให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับ โรคเครียดภายหลังภยันตราย หรือ โรค PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) คือ สภาวะป่วยทางจิตใจเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจร้ายแรงซึ่งผู้ที่เผชิญอยู่กับเหตุการณ์นั้น ๆ รอดชีวิตได้มา หรือผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในเหตุการณ์ทำให้เกิดความเครียดทางด้านจิตใจชนิดรุนแรงมากจนทุกข์ทรมาน ส่งผลให้เกิดความบกพร่องในหน้าที่การงานและการใช้ชีวิตประจำวันต่าง ๆ ตามมา เช่น
อาการผู้ที่เข้าข่ายเสี่ยงเป็นภาวะ PTSD แบ่งออก 2 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 อาการเครียดเฉียบพลัน (Acute Stress Disorder) มีระยะเวลาในการแสดงอาการช่วง 1 เดือนแรก สามารถส่งผลต่อการเกิดอาการทางจิตประสาทขึ้นมาได้
ระยะที่ 2 ระยะเวลานานมากกว่า 1 เดือน อาจจะยาวนานหลายเดือน หรือนานเป็นปี แล้วแต่บุคคล มีลักษณะอาการสำคัญ 4 ประการคือ
1.เห็นภาพเหตุการณ์ผุดขึ้นมาซ้ำๆ หรือฝันเห็นบ่อยครั้ง
2.อาการ Flash Back คือ เกิดความตื่นตัว เห็นเหตุการณ์นั้น ๆ กำลังจะเกิดขึ้นกับเรา ควบคุมไม่ได้ นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ตกใจง่าย ใจสั่น ความดันโลหิตสูง ไม่มีสมาธิ เครียดได้กับสิ่งต่างๆ รอบตัว
3.พยายามหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่จะส่งผลทำให้กระทบกระเทือนต่อจิตใจ เช่น ภาพข่าวเหตุการณ์ การพูดถึงจากบุคคลอื่น
4.มีการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ในเชิงลบ รู้สึกว่าชีวิตตัวเองหม่นหมอง ทั้งตัวเองและสิ่งรอบข้าง คิดว่าตัวเองคงไม่มีความสุขได้อีกต่อไปแล้ว ไม่สนใจกิจกรรมที่เคยชอบหรือเคยทำมาก่อนอีกแล้ว ทำให้อาจคิดฆ่าตัวตาย หรือพึ่งสารเสพติดต่างๆ เพื่อต้องการให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น แต่จริงๆ แล้วอาจจะทำให้เกิดผลร้ายแรงยิ่งกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว
แนวทางการรักษา "โรค PTSD" หรือ โรคความผิดปกติทางจิตใจภายหลังภยันตราย
1.ยอมรับตัวเอง
2.ทำจิตบำบัด
3.ฝึกผ่อนคลายความเครียด เช่น การทำสมาธิ
4.ทำกลุ่มบำบัด โดยนำบุคคลที่เคยเจอเหตุการณ์คล้าย ๆ กันมาพบกัน
5.รับประทานยาตามแพทย์สั่ง
สายด่วนสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต 1223