ถอดบทเรียนนวัตกรรมทางการแพทย์ไทย กับศักยภาพรับมือภัยพิบัติ-โรคระบาด

24 ต.ค. 2565 | 10:35 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ต.ค. 2565 | 17:38 น.

โรคระบาด ภัยธรรมชาติ ความแปรปรวนของสภาพอากาศ ส่งผลกระทบต่อทั่วโลก กลายเป็นบทเรียนทำให้รู้ว่า นวัตกรรมทางการแพทย์ยังก้าวไม่ทันกับการเกิดและการระบาด รวมถึงประเทศไทยด้วย

การเกิดโรคระบาด ภัยธรรมชาติทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง ความแปรปรวนของสภาพอากาศไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังหมายถึงสถานการณ์ทั่วโลก ทำให้เห็นภาพน้ำท่วมใหญ่ในรอบ 30 ปีในแอฟริกา พายุไต้ฝุ่นหินหนามหน่อในเกาหลีใต้  น้ำท่วมครั้งใหญ่ในกรุงโซลกับมิดสถานีรถไฟใต้ดินกลายเป็นข่าวช็อคโลก

 

ขณะที่ประเทศไทยเองต้องเผชิญทั้งอุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก ฝุ่น PM2.5 เป็นประจำทุกฤดูกาล ทุกภัยพิบัติ นอกจากจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน เศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของคนทั้งในระยะสั้น และระยะยาวแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน แต่ละเหตุการณ์มักมีผู้ป่วยเกิดขึ้นพร้อมกันจำนวนมากที่ต้องการบริการทางการแพทย์อย่างเร่งด่วน สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของระบบสาธารณาสุขในประเทศนั้นๆ

ถอดบทเรียนนวัตกรรมทางการแพทย์ไทย กับศักยภาพรับมือภัยพิบัติ-โรคระบาด

แม้กระทั่งสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ถือเป็นบททดสอบครั้งใหญ่ของระบบสาธารณสุขทุกประเทศต่อการรับมือวิกฤตสุขภาพที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก เป็นครั้งแรกที่เราเห็นปัญหาการขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนวัคซีน อินเดียขาดแคลนถังออกซิเจนเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ไวรัสโควิด-19 ลงปอด ชุด PPE และหน้ากากอนามัย ผลิตไม่ทันและมีไม่เพียงต่อความต้องการในตลาด

 

ส่งผลให้สินค้าขาดตลาด และมีราคาสูงเกินความเป็นจริง เมื่อเกิดวิกฤตสุขภาพขึ้น ทุกประเทศต่างสำรองและจำกัดการส่งออกเพื่อสงวนไว้ให้ประชาชนของตนใช้ภายในประเทศ หากประเทศใดมีความพร้อมในด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์ และมีระบบสาธารณสุขที่แข็งแกร่ง จะนำพาให้ประชาชนประเทศนั้นจะอยู่รอด และเกิดความสูญเสียน้อยที่สุด

ถอดบทเรียนนวัตกรรมทางการแพทย์ไทย กับศักยภาพรับมือภัยพิบัติ-โรคระบาด

ไทยต้องเชิญกับวิกฤตอย่างหนัก  ทำให้ต้องนำเข้าเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศ ทั้งจากสหรัฐอเมริกา เยอรมัน จีน และ ญี่ปุ่น มาโดยตลอด ในสถานการณ์ที่ปัญหาความขาดแคลนเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก จึงเกิดคำถามที่ว่า ไทยพร้อมแค่ไหนกับการรับมือสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องของนวัตกรรมทางการแพทย์

ถอดบทเรียนนวัตกรรมทางการแพทย์ไทย กับศักยภาพรับมือภัยพิบัติ-โรคระบาด

ขณะที่หน่วยงานจำนวนหนึ่งเลือกที่จะเดินหน้าศึกษาและพัฒนาสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ขึ้น เพื่อรองรับกับความต้องการ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารที่ร่วมมือกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นำองค์ความรู้หลากหลายสาขาวิชา ผลิตเครื่องจ่ายออกซิเจน Hi-Flow อย่างเร่งด่วน เป็นเครื่องจ่ายออกซิเจนอัตราการไหลสูง ซึ่งผลิตโดยคนไทยทุกขั้นตอน ทำให้มีราคาถูกกว่าการนำเข้าถึง 3-4 เท่า มีระบบมอนิเตอร์ทางไกลช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ในการเข้าไปดูแลคนไข้

 

นอกจากนี้ ยังผลิตเครื่องผลิตออกซิเจน ลดปัญหาการขาดแคลนถังออกซิเจน นำมาช่วยเหลือผู้ป่วยในช่วงเกิดวิกฤตสุขภาพได้อย่างทันท่วงที ซึ่งหากไม่มีวิกฤตสุขภาพในครั้งนี้ คนไทยอาจไม่รู้เลยว่า คนไทยมีศักยภาพมากพอที่จะผลิตเครื่องมือแพทย์ได้เอง สามารถลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ ลดค่าใช้จ่ายในการรักษา ลดการใช้งบประมาณภาครัฐได้อย่างมหาศาล และยังเพิ่มการเข้าถึงการบริการทางสาธารณสุขของคนไทยได้อย่างเท่าเทียม

 

ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธาน มูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ในพระสังฆราชูปถัมภ์ กล่าวว่า มูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าฯ ได้รับเงินบริจาคจากพี่น้องคนไทยเพื่อผลิตและแจกจ่ายเครื่องจ่ายออกซิเจน Hi-Flow และเครื่องผลิตออกซิเจน ไปยังโรงพยาบาลสนามและโรงพยาบาลที่ขาดแคลนทั่วประเทศไปแล้วกว่า 1,000 เครื่องทั่วประเทศ ภายใต้โครงการ "ไทยทำ ไทยใช้ ไทยรอด" 

ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

จากเหตุการณ์วิกฤตสุขภาพในครั้งนี้ ถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของคนไทยที่ต้องลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ ผลิตนวัตกรรมเทคโนโลยี เครื่องมือแพทย์ของตนเองเพื่อใช้ภายในประเทศ และเพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยให้แข็งแกร่ง และนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่จุดประกายการสร้างโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารขึ้น เพื่อให้เป็นโรงพยาบาลศูนย์กลางวิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์แห่งแรกของประเทศไทย มุ่งเน้นพัฒนาและผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วยตนเอง