สถานการณ์โรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศไทยปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขปี 2563 ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงถึง 20,000 รายต่อปี หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน แต่หากได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและทันเวลาจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้
ล่าสุด มีรายงานว่า สำนักงานประกันสังคม จับมือกับ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง โครงการรักษาหัวใจ 7/24 เฉลิมพระเกียรติเพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดแก่ผู้ประกันตนให้สามารถเข้าถึงการรักษาอย่างรวดเร็วและทันเวลาซึ่งจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและส่งผลให้ผู้ประกันตนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
โดยผู้ประกันตนหรือผู้ป่วยในวัยทำงานที่ใช้สิทธิประกันสังคม สามารถเข้ารับการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ได้
ซึ่งครอบคลุมการรักษาในการทำ 7 หัตถการ ประกอบด้วย
1.การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ (CAG)
2.การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจและขยายหลอดเลือดหัวใจ ด้วยบอลลูน (CAG + PCI)
3.การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ ด้วยการจี้ไฟฟ้าหัวใจ (EPS with RFCA)
4.การจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยเครื่อง Carto (EPS with Carto)
5.การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบถาวร Permanent Pace Maker
6.การใช้เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจถาวร (AICD)
7.การใส่เครื่องสมานฉันทร์หัวใจ ในภาวะหัวใจล้มเหลว CRTP(D)
ทั้งนี้ หากรักษาแล้วต้องมีการส่งตัวกลับไปรักษาต่อเนื่อง ณ สถานพยาบาลต้นสังกัดของผู้ประกันตน รพ.จุฬาภรณ์จะเป็นผู้ประสานเพื่อให้เกิดความสะดวกต่อผู้ประกันตนต่อไปเพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับการรักษาที่ได้มาตรฐานสากล มีความสะดวกและปลอดภัย ลดระยะเวลารอคอยการรักษา ทำให้ผู้ประกันตนมีผลลัพธ์การรักษาที่ดี ลดอัตราการเสียชีวิต หรือพิการของผู้ประกันตนได้ และสามารถกลับมาทำงานได้อย่างมีคุณภาพต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โทร.064-205-3970 หรือโทร.1118 และที่สายด่วนโรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โทร.064-585-5197
ที่มา สำนักงานประกันสังคม , โรงพยาบาลจุฬาภรณ์