2 ปัจจัยทำคนไทยติดเชื้อโควิดเพิ่ม ลากยาวถึง ก.พ. 66

21 พ.ย. 2565 | 08:40 น.
อัปเดตล่าสุด :21 พ.ย. 2565 | 15:37 น.

ศ.นพ.ยง เผย 2 ปัจจัยหลักทำให้คนไทยติดเชื้อโควิด -19 เพิ่มถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ย้ำชัด สวมหน้ากากอนามัย และฉีดวัคซีนโควิดยังจำเป็น

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 วันนี้ยังต้องพร้อมรับมือตลอดเวลา ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทยระหว่างวันที่ 13-19 พฤศจิกายน 2565 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่รักษาตัวในโรงพยาบาล 3,957 คน มีผู้เสียชีวิตรายใหม่ 69 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบ 432 คน ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 252 คน

 

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเปิดเผยว่า ในหัวข้อ โควิด 19  เมื่อโรคเพิ่มขึ้นตามฤดูกาล โดยชี้ให้เห็นว่า 2 ปัจจัยหลักที่จะมีผลทำให้คนไทยติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นยาวไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 

 

เมื่อนักเรียนเปิดเทอม และเข้าสู่ฤดูหนาว โรค covid-19 จะเพิ่มขึ้นตามฤดูกาล ในพีคที่ 2 จะไม่มากเท่าในฤดูฝนที่ผ่านมา หรือพีคแรก และจะลดลงหลังเดือนกุมภาพันธ์

การศึกษาของศูนย์ไวรัส พบว่า ประชากรผู้ใหญ่ที่อายุเกิน 15 ปีไปแล้ว เกือบทั้งหมดหรือ 98-99 เปอร์เซ็นต์มีภูมิต้านทานที่ตรวจพบได้ จากการฉีดวัคซีนและหรือติดเชื้อ ยกเว้นในกลุ่มที่อายุน้อยกว่า 5 ปี มีถึง 35%  ที่ยังไม่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิค 19 หรือไม่เคยติดเชื้อมาก่อน

 

สถานการณ์โดยทั่วไป จะไม่รุนแรง เพราะมีภูมิต้านทาน ยกเว้นในกลุ่มเปราะบางมีโรคประจำตัว  เช่น โรคไตเรื้อรังที่ต้องฟอกไต โรคปอดโรคหัวใจหรือ 608  ที่จะทำให้โรครุนแรง เช่นเดียวกันกับไข้หวัดใหญ่ แม้มีรายงาน การกลายพันธุ์ของไวรัส ในที่ต่าง ๆ ทั่วโลก แต่ไม่มีหลักฐานใดที่พบว่า ไวรัสที่กลายพันธุ์ เพิ่มความรุนแรงของโรค ส่วนใหญ่จะทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำได้ 

"สภาพทั่วไป ทุกสิ่งใกล้จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ด้วยการอยู่กับโรคโควิด 19 ที่เหมือนกับโรคทางเดินหายใจโรคหนึ่ง ประชากรส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานหรือการติดเชื้อ ขณะนี้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 70 (ทั้งวัคซีน-ติดเชื้อ) การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นทุกวันนี้ น้อยกว่าการติดเชื้อในธรรมชาติ

 

การติดเชื้อซ้ำเกิดขึ้นได้แต่โอกาสติดเชื้อจะน้อยกว่าคนที่ไม่เคยติดเชื้อ การเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่ภาวะปกติ คงจะค่อยเป็นค่อยไป เช่น ควรใส่หน้ากากอนามัย ขณะนี้ถ้าอยู่ในกลุ่มคนจำนวนมาก ผู้ป่วย (เมื่อป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ ควรใส่หน้ากากอนามัยทุกราย ไม่ว่าโรคทางเดินหายใจนั้นจะเป็น covid หรือไม่)" 

 

พบผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น ความรุนแรงของโรคก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น และต่อไปก็จะเหมือนโรคทางเดินหายใจโรคหนึ่ง ที่พบได้ตามฤดูกาล การให้วัคซีนป้องกันโรค มีความจำเป็นอย่างยิ่งในกลุ่มเปราะบาง  608  รวมทั้งเด็กเล็ก การให้วัคซีนยังเป็นไปด้วยความสมัครใจ