จากกรณีที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจพบ โควิด XBC หรือ เดลตาครอน XBC รายแรกของไทยซึ่งไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศโดยปัจจุบันผู้ติดเชื้อหายเป็นปกติแล้วนั้น นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบายเกี่ยวกับโควิดสายพันธุ์ XBC หรือ เดลตาครอน XBC นี้ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
โควิด XBC หรือ เดลตาครอน XBC เป็นสายพันธุ์ลูกผสมของเดลตา และ โอมิครอน BA.2 ซึ่งพบกลายพันธุ์ไปมากกว่า XBB และ BQ.1 จากการถอดรหัสพันธุกรรม ทั้งจีโนมของเดลตาครอน
คุณสมบัติเด่นของ XBC คือ แพร่ได้เร็วเหมือนโอไมครอนแต่รุนแรงและโจมตีปอดเหมือนเดลต้า
ทั้งนี้ ทุกประเทศในอาเซียนที่ตรวจพบ XBB และ XBC รายงานตรงกันว่า ผู้ติดเชื้อมีอาการไม่ต่างจากการติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม คือ ไม่รุนแรง อัตราการเสียชีวิตต่ำ
ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกรายสัปดาห์นั้น พบว่า BA.5 และสายพันธุ์ลูกหลาน ยังคงเป็นสายพันธุ์ที่พบมากทั่วโลก คิดเป็น 72.1% ขณะที่ BA.4 และสายพันธุ์ลูกหลาน ลดจากสัปดาห์ก่อนจาก 3.6% เป็น 3.0%
ส่วน BA.2 และสายพันธุ์ลูกหลาน คิดเป็น 9.2% เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน ด้าน BA.1 และสายพันธุ์ลูกหลาน พบน้อยกว่า 1% สำหรับ BQ.1 และสายพันธุ์ลูกหลาน พบเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน (จาก 19.1% พบเพิ่มเป็น 23.1%) สำหรับ XBB (สายพันธุ์ลูกผสมของ BA.2.10.1 และ BA.2.75) และสายพันธุ์ลูกหลาน พบเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน (จาก 2.0% พบเพิ่มเป็น 3.3%)
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่าย ยังคงเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 และเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID อย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามผลกระทบจากสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์น่ากังวลที่อาจมีต่อความรุนแรงของโรค ประสิทธิผลของมาตรการทางสาธารณสุข หรือคุณสมบัติของอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของเชื้อไวรัส
พร้อมแนะนำว่า ในช่วงเวลานี้มาตรการส่วนบุคคล เช่น การสวมหน้ากาก ล้างมือ ยังจำเป็นเพื่อลดการระบาดของโรค รวมถึงการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น สามารถลดความรุนแรงได้ โดยเฉพาะกลุ่ม 608