21 ธันวาคม 2565 นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในการเป็นประธานการสัมมนาวิชาการ เรื่อง "เตรียมพร้อม รับมือ ป้องกันสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก" ณ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไทยซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ฝุ่นละอองเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในหลายพื้นที่เนื่องจากสภาพอากาศที่ปริมาณฝนลดลง รวมถึงกิจกรรมของประชาชนไม่ว่าจะเป็นการเดินทางและเตรียมพื้นที่การเกษตรกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในปี 2566 สถานการณ์ฝุ่นอาจมีแนวโน้มสูงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากอากาศเย็นและปริมาณฝนน้อย ซึ่งจากผลการสำรวจอนามัยโพล (25 พฤศจิกายน - 16 ธันวาคม 2565) เรื่อง "ท่านเตรียมตัวรับมือกับฝุ่น PM2.5 อย่างไร" พบว่า ประชาชนกว่าร้อยละ 69 มีความวิตกกังวลกับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5
พบว่า 3 อันดับแรก คือ กังวลว่า จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กเล็กในระยะยาว ร้อยละ 52.4 ทำให้โรคประจำตัวมีอาการรุนแรงมากขึ้น ร้อยละ 44.5 และไม่มีอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น ร้อยละ 25.1 ยังพบว่า ในช่วงก่อนเกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ประชาชน ส่วนใหญ่ได้มีการเตรียมตัวดูแลสุขภาพตนเองและคนในครอบครัว ด้วยการเตรียมหน้ากากป้องกันฝุ่น ร้อยละ 82.6 ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ร้อยละ 71.2 รวมถึงทำความเข้าใจระดับค่าสี PM2.5 และคำแนะนำในการปฏิบัติตน ร้อยละ 59.8
ข้อมูลที่ประชาชนต้องการทราบมากที่สุด คือ อาการและผลกระทบต่อสุขภาพจาก PM2.5 ร้อยละ 66.5 รองลงมา คือ ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับ PM2.5 ร้อยละ 58.7 และคำแนะนำการดูแลสุขภาพเมื่อค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน ร้อยละ 58.6
ทั้งนี้ เห็นว่า สิ่งที่สามารถทำได้ทันที คือ การรู้จักป้องกันตนเองเมื่อปริมาณฝุ่นเพิ่มมากขึ้น โดยหน่วยงานรัฐต้องเตือนประชาชน ถ้าไม่จำเป็นอย่าออกไปกลางแจ้ง ถ้าเป็นสีแดงนาน ๆ ต้องลดการเคลื่อนย้ายประชากร
ส่วนกลุ่มที่ต้องออกไปทำงานกลางแจ้ง ต้องใส่หน้ากาก ซึ่งหน้ากากอนามัยสามารถป้องกัน 40-50% แต่ถ้าเราหน้ากากผ้าและหน้ากากอนามัย ใส่หน้ากาก2 ชั้นอาจจะป้องกันได้มากกว่า ผลิตภัณฑ์ที่ใช้การล้างจมูก พ่นจมูก สามารถทำได้ชั่วคราว แต่ถ้าธรรมชาติของคนเรา ขนจมูก เนื้อบุสามารถป้องกันได้อย่างดี สิ่งที่สำคัญ คือ การใช้หน้ากากสามารถป้องกันได้มากกว่าใช้ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ