"ชาไทย" ไม่ได้มีแค่ความอร่อย ดื่มถูกวิธีมีประโยชน์สุขภาพดี

22 ก.พ. 2566 | 20:11 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.พ. 2566 | 00:31 น.

เปิดประโยชน์ของ "ชาไทย" หลังคว้าอันดับ 7 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่อร่อยที่สุดในโลก แนะดื่มถูกวิธีมีประโยชน์ดีต่อสุขภาพ

ชาไทย หรือ ชาเย็น ที่คนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีแม้แต่นักท่องเที่ยวจากหลายประเทศเมื่อได้ลองลิ้มต่างก็ติดอกติดใจยกให้เป็นเครื่องดื่มสุดประทับใจที่หาไม่ได้จากที่ไหนในโลก

ล่าสุด TasteAtlas เว็บไซต์ชื่อดังซึ่งให้ข้อมูลด้านอาหารจากทั่วทุกมุมโลกได้จัดให้ "ชาไทย" ติดอันดับ 7 เป็นเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่อร่อยที่สุดในโลกอีกด้วย ที่น่าสนใจทราบกันหรือไม่ว่า ชาไทย ไม่ได้มีดีแค่รสชาติที่กลมกล่อมละมุนลิ้นเท่านั้นแต่ถ้ารับประทานอย่างเหมาะสมยังดีต่อสุขภาพอีกด้วย 

ประโยชน์ของการดื่มชา

ต้านอนุมูลอิสระ

  • ในชาประกอบด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่ทรงพลังหลายชนิด โดยเฉพาะ Epigallocatechin gallate (EGCG) สารต้านอนุมูลอิสระที่มีฤทธิ์แรงมากกว่าวิตามินอีถึง 20 เท่า คาเทชินเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ สามารถจับกับอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุของโรคหลายชนิด เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ และภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นต้น การดื่มชาจึงช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเหล่านี้ได้

 

รักษาสุขภาพช่องปาก 

  • สารโพลิฟีนอล (Polyphenols) ในน้ำชาจะช่วยยับยั้งเติบโตของแบคทีเรียในช่องปาก ที่สามารถก่อโรคในช่องปากและทำให้ฟันผุได้ นอกจากนี้ยังมีสารคาเทชินที่ช่วยเคลือบฟันให้แข็งแรงป้องกันฟันผุ แต่การดื่มชาในปริมาณมากเกินไปก็อาจทำให้ฟันเหลืองได้

ช่วยป้องกันเบาหวาน 

  • ข้อดีของสารโพลิฟีนอลนั้นยังช่วยป้องกันเบาหวานชนิดที่ 2 ลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะไมเลสไว้ ส่งผลให้ย่อยแป้งชาลงและช่วยให้ร่างกายเพิ่มขึ้นระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างช้าๆ ไม่เร็วจนเกินไป

ช่วยการทำงานของระบบประสาท 

  • ชามีสาร L-Theanine ที่ออกฤทธิ์กับระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยให้สมองปล่อยคลื่นสมองอัลฟา (Alpha Brain Wave) มากขึ้น และลดคลื่นสมองเบต้า (Beta Brain Wave) ทำให้ช่วยผ่อนคลายและลดความเครียด ส่งเสริมให้มีสมาธิมากขึ้น ไม่หงุดหงิดง่าย ลำดับความคิดเป็นระบบระเบียบมากขึ้น ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ข้อควรระวังในการดื่มชา

สำหรับบางคน การดื่มชาอาจจะไม่เหมาะสมและอาจทำให้เกิดโทษได้ ได้แก่ ผู้ที่ไตทำงานบกพร่องหรือมีอาการไตวาย ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหารและลำไส้ กระเพาะเป็นแผล

สตรีที่รับประทานยาคุมกำเนิด สตรีตั้งครรภ์ สตรีให้นมบุตร ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ผู้ที่มีไข้สูง ผู้ที่เป็นโรคนอนไม่หลับ รวมไปถึงเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ขวบก็ไม่ควรดื่มชา

ผู้ที่มีปัญหานอนไม่ค่อยหลับ นอนหลับยาก หรือเป็นโรคนอนไม่หลับ ไม่ควรดื่มชาก่อนเข้านอน เพราะคาเฟอีนที่มีอยู่ในชาจะมีฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้ไม่ง่วงนอน และลดความสามารถและระยะเวลาในการนอนหลับ

ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ ไม่ควรดื่มชา เพราะคาเฟอีนจะทำให้หัวใจเต้นเร็ว หลอดเลือดหดตัว ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองและหัวใจได้ไม่สม่ำเสมอ ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น

คาเฟอีนยังทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้อีกด้วย ดังนั้น ชาจึงไม่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน

ส่วนผู้ที่มีไข้สูง สาเหตุที่ไม่ควรดื่มชาก็เพราะจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็ว ยิ่งทำให้ตัวร้อนมากขึ้น และแทนนินยังทำให้ร่างกายขับเหงื่อออกมาน้อย