นักไวรัสวิทยา เตือนไทยเฝ้าระวัง "ไข้หวัดนก H5N1"

23 ก.พ. 2566 | 08:50 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.พ. 2566 | 09:02 น.

นักไวรัสวิทยา เตือนไทยเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก H5N1 อย่างจริงจังหลังพบผู้ป่วยเป็นเด็กติดเชื้อเสียชีวิตในประเทศเพื่อนบ้าน

จากกรณีที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานระบุว่า มีการตรวจพบการติดเชื้อไข้หวัดนกในหลายประเทศ เช่น เอกวาดอร์ โคลอมเบีย และโบลิเวีย ขณะที่มีการตรวจพบเชื้อในนกป่าในอาร์เจนตินา และการตรวจพบการติดเชื้อไข้หวัดนกครั้งแรกในอุรุกวัย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า โรคไข้หวัดนกขยับเข้าใกล้บราซิลทุกขณะ โดยบราซิลเป็นผู้ส่งออกไก่รายใหญ่ที่สุดของโลก

องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ระบุว่า สัตว์ปีกกว่า 100 ล้านตัวตายหรือถูกกำจัดจากผลพวงของโรคไข้หวัดนกระบาดระหว่างต้นเดือนต.ค. 2565 ถึงวันที่ 3 ก.พ.2566 ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของฤดูกาลก่อนหน้า

ล่าสุด ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) (นักวิจัยจาก สวทช.)

โพสต์เฟซบุ๊ก อ้างอิงรายงานจากกระทรวงสาธารณสุขของกัมพูชาเมื่อวานนี้ที่ระบุว่า พบเคสเด็กหญิงอายุ 11 ปี เสียชีวิตจากการติดเชื้อไข้หวัดนก H5N1 เด็กหญิงรายนี้เริ่มป่วยตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. ด้วยอาการไข้สูง ไอ และเจ็บคอ หลังจากเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลท้องถิ่น แล้วอาการไม่ดีขึ้น

มีอาการหายใจติดขัดผิดปกติ ก่อนที่จะถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลเด็กแห่งชาติที่กรุงพนมเปญ วันที่ 21 ก.พ. แพทย์ส่งตัวอย่างไปตรวจ และผลออกมาวันรุ่งขึ้นพบว่า เป็นเชื้อไข้หวัดนกชนิด H5N1 โดยผู้ป่วยเสียชีวิต

ในช่วงที่ H5N1 มีการระบาดในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมหลายชนิดและในหลายพื้นที่ การติดเชื้อจากสัตว์สู่คนในภูมิภาคใกล้เคียงกับประเทศไทยจึงเป็นอะไรที่ต้องเฝ้าระวังอย่างจริงจัง

การติดเชื้อได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมดีขึ้น ทำให้ส่วนตัวกังวลไปที่สุกรเพราะสุกรเป็นสิ่งมีชีวิตที่ติดไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ดี และ สามารถเป็นแหล่งสร้างไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ๆ ได้ เหมือนกรณีไข้หวัดใหญ่ 2009 ก็มาจากสุกรสู่คนเช่นกัน