พญ.กอบกาญจน์ ชุณหสวัสดิกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกัน ผู้อำนวยการสถาบัน จิณณ์ เวลเนส เซ็นเตอร์และเนชันแนล ไดเร็คเตอร์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว “PM 2.5” หรือฝุ่นจิ๋ว เข้ามามีส่วนสำคัญและเป็น Top Star เพราะเป็นเรื่องใหม่ ทำให้หน้ากาก N95 ขายดีจนขาดตลาด
เพราะประชาชนเริ่มรับรู้ว่า PM2.5 อันตรายกว่าการเผาป่า หญ้า ที่ฝุ่นควันเป็นสารอินทรีย์ทำให้เกิดการระคายเคือง แต่ไม่ถึงขั้นก่อมะเร็ง แต่ปัจจุบันฝุ่นนั้นไม่ได้เกิดจากการเผาวัสดุธรรมชาติ เกิดจากอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นควันไอเสียรถยนต์ การเผาไหม้ในอุตสาหกรรม ซึ่งมีขนาดเล็กเพียง 2.5ไมครอน ทำให้เมื่อสัมผัสร่างกายไม่เพียงเกาะตามผิวหนังแต่ซึมเข้าถึงระดับเซลล์ได้
“กายวิภาคของ PM 2.5 แตกต่างกันขึ้นอยู่กับแหล่ง เพราะฉะนั้น PM 2.5 ในเมืองหลวงอันตรายกว่า PM 2.5 ตามป่าตามดอย แต่เบื้องต้น Health Effect ระยะสั้นคือฟทำให้เกิดการระคายเคืองเหมือนกัน เช่น แสบตา คันผิวหนัง เจ็บคอ บางคนเป็นผื่น และที่พบมากที่สุดคือระบบปอด ระบบทางเดินหายใจ และถ้าหากเข้าเซลล์จะมีเรื่องของหัวใจ หลอดเลือด ตามมา ที่สำคัญถ้าในอนาคตมีข้อมูลงานวิจัยเพิ่มมากขึ้นอาจจะพบการกลายพันธุ์ เช่น เด็กพิการในวันข้างหน้าได้
ในช่วงที่ PM2.5 หนาแน่น มีคนไข้มาที่จิณณ์ เวลเนส เซ็นเตอร์เยอะขึ้น เพราะมาเพื่อลดการระคายเคือง รับวิตามินต้านอนุมูลอิสระ เพราะในคนที่ระดับโฮโมซิสเทอีนในเลือดสูงพบว่ายิ่งสูงขึ้นอีกเมื่อมีฝุ่นระบาด จึงต้องหาตัวช่วยลดในกลุ่มของวิตามินบี 6 บี 12 และ Folic acid
รวมทั้งรับแนวทางการปรับอาหาร เช่น โปรตีน เนื้อสัตว์ต่างๆ ผักใบเขียวโดยเฉพาะบล็อกโคลี่ที่มีสาร sulforaphane ช่วยในการล้างพิษฝุ่น PM 2.5 ได้อีกทาง แต่ทั้งนี้การป้องกันสำคัญที่สุด การใส่หน้ากาก N95 และตรวจอากาศก่อนออกกำลังกายในที่แจ้ง อาบน้ำ ทำความสะอาดล้างตา ล้างโพรงจมูกเป็นประจำ หลีกเลี่ยงฝุ่น ยังเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด
สำหรับการรับมือ PM 2.5 ทางการป้องกันด้วย Wellness สามารถใช้การทำ prevention โปรแกรม ด้วย lifestyle ให้คนไข้กินดี นอนดี ขับถ่ายดี ทำให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานที่ดี ลดกระบวนการการอักเสบตั้งแต่ต้นทาง เพราะ PM 2.5สร้างกระบวนการการอักเสบ ของเซลล์ เกิดอนุมูลอิสระ เพราะฉะนั้นแพทย์จะให้คนไข้ลดกระบวนการการอักเสบ ตั้งแต่การปรับพฤติกรรม ไม่เครียด เน้นอาหารที่มีฤทธิ์ต้านอักเสบ เช่น ผักโขมมีโฟเลต เสริมเบต้าแคโรทีน วิตามิน B วิตามิน C และวิตามิน D ซึ่งอยู่ในอาหารธรรมชาติอยู่แล้ว
ส่วนกระบวนการชี้วัดจะมีการเจาะเลือดเพื่อดูค่าของโฮโมซิสเทอีน, Oxidative stress และดูความเสี่ยงอื่นๆ โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิต ไขมัน หัวใจหลอดเลือดและมะเร็งอยู่แล้ว หรือผู้ที่ชราภาพจะมีความเสี่ยงมากเมื่อเจอ PM 2.5 ในปริมาณที่มากทำให้ร่างกายเกิดอาการเจ็บป่วยมากขึ้นได้
การดูแลรักษาด้วยเวลเนส ต้องดูแลเรื่องอาหารและความเครียดไปจนถึงเรื่องของ wellness คือวิตามิน หากคนไข้ขาดวิตามินใด แพทย์จะเสริมวิตามินตัวนั้น รวมถึงตัวอื่นที่ลดกระบวนการการอักเสบได้ ซึ่งมีทั้งแบบกินและให้ทางเส้นเลือดดำ รวมถึงวิธีทางธรรมชาติบำบัด เช่น การสุมโปงด้วยสมุนไพร ที่เป็นแนวทางแผนไทยที่มีมานาน นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีของจิณณ์ เวลเนส ในการดูแลเริ่มตั้งแต่การใช้ AI ดูจุดอ่อนของสุขภาวะของคนไข้แต่ละคน เพื่อคัดแยกคนไข้ตั้งแต่การดูข้อมูลพื้นฐาน ไลฟ์สไตล์ด้วยนวัตกรรมเพื่อเก็บข้อมูลและ analysis ออกมาเป็น AI
“นวัตกรรมอีกหนึ่งอย่างที่อยู่ในไปป์ไลน์และมีแผนที่จะทำต่อไปในอนาคต คือการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อข้อมูลแบบ real time ว่า PM 2.5 อยู่ที่จุดใด และตรงไหนมีเยอะขึ้น และแจ้งเตือนไปยังผู้ใช้งานที่มีความเสี่ยงให้ใส่หน้ากากป้องกัน นอกจากนั้นจะเป็นการแนะนำให้วิตามิน และอาหารที่จำเป็นขณะนั้นเพื่อเข้ากับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่ยังหนีไม่พ้นพื้นฐานคือ กินดี อยู่ดี นอนดี ขับถ่ายดี”
อย่างไรก็ตาม PM2.5 เป็นสิ่งที่เกิดประจำถิ่น ระบบสาธารณสุขจะต้องดูแลประชากรแต่ละท้องถิ่นนั้นๆการที่จะช่วยลด PM2.5 ได้ดีที่สุดคือ ต้องทำ “อากาศสะอาด” ซึ่งตอนนี้มีการขับเคลื่อนลงชื่อสนับสนุนพ.ร.บ อากาศสะอาด เช่น ลดการเผาไหม้ หรือขอความร่วมมือโรงงาน ภาคอุตสาหกรรมหยุดกระบวนการผลิตในพื้นที่หรือบริเวณที่มี PM2.5 หนาแน่นระยะหนึ่ง หรือภาคเอกชนควรออกมาตรการให้พนักงาน work from home ได้
“อีกหนึ่งวิธีที่น่าจะได้ผลอย่างมากคือ “เครื่องฟอกอากาศ” ในเมื่อเราปรับสภาพอากาศไม่ได้เราจะต้องมีโซนอากาศปลอดภัย เช่นในประเทศจีนมีการติดตั้งเครื่องกรองอากาศขนาดยักษ์เทียบเท่าตึก 5-6 ชั้นรัศมี 20 เมตร แม้จะไม่สามารถช่วยคนได้ทั้งเมืองก็ตาม แต่อย่างน้อยก็สามารถช่วยให้คนสามารถลดความรุนแรงทางสุขภาพลงได้
เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถนำมาต่อยอด เช่น ติดตั้งในตึกในอาคารและมีการรับรองอาคารอากาศสะอาด คนก็จะสามารถเข้าไปหลบฝุ่นตรงนั้นได้ และเป็นอีกหนึ่งจุดขายให้ของอาคารนั้นๆ หรืออาจจะออกกฎหมายให้ทุกออฟฟิศจะต้องมีอากาศสะอาด เพราะถ้าเราไม่แก้ไขปัญหาตรงนี้ ในอนาคตจะมีคนป่วยเต็มบ้านเต็มเมือง
ถ้านำ 30 บาทมารักษาทุกโรคจะเสียงบประมาณของประเทศในระบบสาธารณสุขที่จะต้องแบกรับมากขึ้น สร้างภาระให้หมอในการรักษาพยาบาลมากขึ้น อย่างน้อยๆมะเร็ง โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจและโรคที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับกระบวนการอักเสบจะเพิ่มขึ้น
และถ้าหากสุขภาพของประชาชนไม่ดีศักยภาพในการทำงานก็จะลดลง ทำให้การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจแผ่วลง สุดท้ายก็คือส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวถ้าเมืองไทยอากาศไม่ดี นักท่องเที่ยวอาจจะไม่เข้ามา แต่ถ้าเราสามารถโปรโมทว่าประเทศไทยมีอากาศดี อากาศสะอาด เป็น Wellness Forum ดึงคนมาฟอกปอด มาสูดอากาศบริสุทธิ์ก็จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาได้จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วย”
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,864 วันที่ 23 - 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566