3 โรคใกล้ตัวที่มากับฤดูร้อน เช็คอาการพร้อมวิธีรับมือ

07 มี.ค. 2566 | 20:15 น.

เข้าสู่ฤดูร้อน เตือน 3 โรคร้ายใกล้ตัวที่ต้องพึงระวัง เช็คสาเหตุและอาการสำคัญพร้อมวิธีลดความเสี่ยง คลิกเลย

ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนกันแล้วโดยกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์สภาพอากาศตั้งแต่เมื่อสองวันที่ผ่านมาไทยได้เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนเป็นวันแรกและจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนพฤษภาคมนี้ซึ่งนอกเหนือจากอากาศที่ร้อนจัดแล้ว โรคที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงนี้เป็นสิ่งที่เราต้องพร้อมรับมือ ป้องกันและหลีกเลี่ยงเพื่อดูแลสุขภาพตัวเองและคนที่คุณรักในช่วงนี้กันด้วย 

1.โรคลมแดด (Heat Stroke)

สาเหตุ

เกิดจากร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป จนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส

อาการสำคัญ

  • อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
  • ไม่มีเหงื่อออก กระหายน้ำมาก
  • ตัวร้อนขึ้นเรื่อย ๆ หายใจเร็ว
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • หากไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีอาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้ 

คำแนะนำ

  • ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว 
  • สวมแว่นกันแดด กางร่ม ทาครีมกันแดด SPF 15 ขึ้นไป
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
  • ใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ผ้าโปร่งสบาย ระบายอากาศได้ดี
  • หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดด
  • เลือกออกกำลังกายช่วงเช้าและเย็น   

2.โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ

โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ซึ่งประกอบด้วย

  • โรคอาหารเป็นพิษ 
  • โรคอหิวาตกโรค
  • โรคบิด
  • โรคไข้ไทฟอยด์ 

สาเหตุ

เกิดจากการรับประทางอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค การรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ การใช้น้ำคลองที่ไม่ผ่านการบำบัดอาจมีสิ่งปฏิกูลปะปน 

อาการสำคัญ

ถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้ง/วัน หรือถ่ายเป็นน้ำจำนวนมาก หรือ เป็นมูกเลือดแม้เพียง 1 ครั้งต่อวัน ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน 

คำแนะนำและการป้องกัน

  • เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่
  • เลือกซื้ออาหารที่สดและสะอาด
  • ดื่มน้ำ เครื่องดื่ม และน้ำแข็งที่มีเครื่องหมายรับรองคุณภาพ (อย.)
  • ควรล้างผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ให้สะอาด ก่อนนำมาปรุงอาหารหรือรับประทาน
  • ล้างมือให้สะอาดก่อนเตรียม ปรุง และรับประทานอาหาร หรือหลังเข้าสุขา 
  • รักษาความสะอาดอุปกรณ์เครื่องครัว ห้องครัว และห้องสุขา
  • ถ่ายอุจจาระในห้องสุขาที่ถูกสุขลักษณะ  

3.โรคที่เกิดจากสัตว์เลี้ยง 

  • โรคพิษสุนัขบ้า หรือ โรคกลัวน้ำ 

สาเหตุ

เกิดจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว ลิง ชะนี กระรอก กระแต ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า กัด ข่วน หรือเลียบาดแผล 

อาการสำคัญ 

เมื่อคนได้รับเชื้อแล้วจะมีอาการปรากฎภายใน 15-60 วัน บางรายอาจน้อยกว่า 10  วัน หรือนานเป็นปี ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าจะเสียชีวิตทุกราย 

คำแนะนำการป้องกัน

  • นำสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคเมื่อสุนัขและแมว อายุตั้งแต่ 2-4 เดือนขึ้นไป
  • ระวังบุตรหลานไม่ให้เล่นคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน
  • เมื่อถูกสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ และรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
  • ควรกักขังสัตว์ที่กัดไว้อย่างน้อย 10 วัน เพื่อสังเกตอาการถ้าสัตว์ตายในระหว่างนี้ให้แจ้งสัตวแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อส่งสัตว์ที่ตายไปตรวจหาโรคพิษสุนัขบ้า 

ข้อมูล กรุงเทพมหานคร