ปลัด สธ. สั่งเฝ้าระวัง 3 กลุ่มอาการเสี่ยงสัมผัส ซีเซียม-137

20 มี.ค. 2566 | 07:40 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มี.ค. 2566 | 07:55 น.

อัพเดทสถานการณ์ "ซีเซียม-137" ล่าสุด ปลัดสาธารณสุข สั่งกำชับเฝ้าระวังเชิงรุกประชาชน 3 กลุ่มเสี่ยงสัมผัส มีอาการทั้งแบบเฉียบพลัน ระยะปานกลาง ระยะยาว

จากกรณีข่าวท่อบรรจุสารซีเซียม-137 หายจากโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งใน อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี กระทั่งมีการเเถลงข่าวล่าสุดว่า พบที่โรงหลอมเหล็ก ที่อยู่ใน อ.กบินทร์บุรี ซึ่งถูกหลอมไปแล้วโดยมีคำสั่งปิดโรงงานและเตรียมตรวจเลือดกลุ่มเสี่ยงนั้น

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และ จ.ปราจีนบุรี กำลังสอบสวนอย่างใกล้ชิดซึ่งสาธารณสุขก็มีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ปราจีนบุรี ซึ่งเปิดหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉิน (อีโอซี)

ส่วนหน้าที่จังหวัดเพื่อติดตามสถานการณ์โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพประชาชน ผู้สัมผัส และผู้มีโอกาสสัมผัส รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร

ทั้งนี้ สารกัมมันตรังสีมองไม่เห็น ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส แต่ตรวจจับได้ด้วยเครื่องมือว่า แผ่รังสีหรือไม่ การเกิดพิษขึ้นกับสารแต่ละชนิดที่มีอันตรายแตกต่างกัน

ความเข้มข้นสาร ระยะเวลาสัมผัส และระยะห่างในการสัมผัสก็จะมีความรุนแรงแตกต่างออกไป อาการมีทั้งแบบเฉียบพลัน เช่น สัมผัสใกล้ชิด อยู่ในระยะที่ไม่ห่างนัก

มีตั้งแต่อาการทำให้เซลล์มีการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะเซลล์ที่ไปสัมผัส ผิวหนังอาจมีตุ่มพอง ตุ่มน้ำใส เกิดการอักเสบ หรือเนื้อตายได้ถ้าสัมผัสนาน ๆ หรืออาการทั่วไป เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว ท้องเสีย อุจจาระร่วง

ส่วนผลระยะกลาง และระยะยาว ส่วนใหญ่สารกัมมันตรังสีจะไวต่อเซลล์ที่มีการแบ่งตัว เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาว หรือเส้นผม ก็จะมีการเฝ้าระวังเชิงรุกใน 3 กลุ่มนี้ คือ 

1.กลุ่มมีอาการทางผิวหนังและเนื้อเยื่อ 

2.กลุ่มอาการทั่วไป คลื่นไส้อาเจียน 

3.อาการผิดปกติผิดสังเกต จะมีการลงรายละเอียด เช่น คนมีเม็ดเลือดขาวต่ำกว่าปกติจำนวนมาก ก็ให้ไปสอบสวนสาเหตุร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง