เช็คด่วนอาการ "โรคหัวใจ" แบบไหนที่ต้องรีบพบแพทย์อ่านเลยที่นี่

12 เม.ย. 2566 | 08:57 น.
อัปเดตล่าสุด :12 เม.ย. 2566 | 08:57 น.

เช็คด่วนอาการ "โรคหัวใจ" แบบไหนที่ต้องรีบพบแพทย์อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขชี้ภาวะโรคหัวใจเกิดได้ทั้งแบบเรื้อรัง และแบบเฉียบพลัน

จากกรณีที่มีผู้โพสต์ข้อมูลแนะนำว่า เช็กด่วน 9 อาการที่จะทำให้เป็นโรคหัวใจระยะแรก คือ เหงื่อออกง่าย อ่อนแรงบริเวณแขน ขา ข้อเท้าบวม นอนกรน ไอเรื้อรัง ปวดหลัง หัวใจเต้นผิดปกติ เจ็บหน้าอก หน้ามืด 

ทั้งนี้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

อย่างไรก็ดี สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ภาวะโรคหัวใจเกิดได้ทั้งแบบเรื้อรังและแบบเฉียบพลัน อาการของ "โรคหัวใจ" ที่ท่านควรไปปรึกษาแพทย์ โดยจำแนกตามชนิดของโรคดังต่อไปนี้

  • โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ จะมีอาการแน่นหน้าอกเหมือนมีอะไรมากดทับกลางอก อาจร้าวไปที่แขนซ้ายด้านใน ใต้ลิ้นปี่หรือกราม เมื่อพักหรืออมยาใต้ลิ้นจะรู้สึกดีขึ้น หายใจไม่ออกหรือเหนื่อยเวลาออกแรง หน้ามืดจะเป็นลมได้
  • โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจมีอาการ ใจสั่น รู้สึกหวิวๆ หน้ามืด วูบจนหมดสติได้
  • โรคหัวใจล้มเหลว จะมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวกขณะนอนราบ ลุกขึ้นมานั่งจะรู้สึกดีขึ้น บางครั้งมีอาการนอนราบแล้วไอ ขา 2 ข้างบวมกดบุ๋ม

อย่างไรก็ตาม ภาวะนอนกรนหรือหยุดหายใจขณะนอนหลับ อาจจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ แต่ไม่ใช่อาการระยะแรกของโรคหัวใจ 

ส่วนอาการไอเรื้อรังมีสาเหตุได้หลายอย่าง เช่น ไซนัสอักเสบ ภูมิแพ้ หลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง หรือภาวะหัวใจล้มเหลวที่มีน้ำเกินซึ่งเป็นระยะที่แสดงอาการและมีอาการมากขึ้นเมื่อนอนราบร่วมกับอาการหอบเหนื่อยหรือขาบวมกดบุ๋มไม่ใช่อาการระยะแรกของ "โรคหัวใจ" ดังนั้นหากท่านมีอาการดังกล่าวควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาต่อไป

"บทสรุปของเรื่องนี้คือ ภาวะโรคหัวใจเกิดได้ทั้งแบบเรื้อรังและแบบเฉียบพลัน ซึ่งภาวะนอนกรนหรือหยุดหายใจขณะนอนหลับ อาจจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ แต่ไม่ใช่อาการระยะแรกของโรคหัวใจ"