ปัจจุบัน ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS ภายใต้การกำกับดูแลของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ติดอันดับ 1 ใน 10 อุตสาหกรรมหลักของประเทศ เพื่อผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง
ดันไทยเป็นฮับการแพทย์-สุขภาพมูลค่าสูง
ล่าสุด รัฐบาล พร้อมผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง สร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ ที่นำองค์ความรู้ทางด้านชีววิทยาศาสตร์มาใช้ประโยชน์ในการผลิตเป็นสินค้าหรือบริการที่ตอบสนองและความต้องการ เพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 6,000 ราย
ทั้งนี้ในช่วงต้นเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดงาน TCELS Life Sciences Beyond Aspiration ซึ่ง TCELS ได้ระบุข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในปี 2565 ผลิตภัณฑ์ยาและเวชภัณฑ์ของไทย มีมูลค่าตลาดประมาณ 2.4 แสนล้านบาท และมีอัตราการเติบโต 3-5% แบ่งเป็น การผลิตในประเทศ 30% และนำเข้า 70% ซึ่งมีมูลค่าการตลาดที่สูง
ดังนั้น จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะขยายศักยภาพของ MSME หรือผู้ประกอบการรายย่อย ๆ ทำงานร่วมกับภาครัฐ และเอกชน เพื่อให้เติบโตและแข่งขันได้ในระดับสากล
เปิดผลงานการส่งเสริมชีววิทยาศาสตร์
ปัจจุบันการส่งเสริมชีววิทยาศาสตร์มีการดำเนินการจากหลายภาคส่วน ดังนี้
นายกฯ พร้อมสนับสนุนเต็มที่
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการผลักดันเรื่องนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมส่งเสริมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน
ทั้งนี้เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง สร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
“นายกรัฐมนตรีส่งเสริมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ เสริมสร้างความแข็งแกร่งอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ที่สามารถต่อยอดไปสู่การผลิตและใช้ประโยชน์ได้จริง ช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจ เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ”