เช็ค 7 อาการตาแดงจากการติดเชื้อโควิด-19

24 เม.ย. 2566 | 07:15 น.
อัปเดตล่าสุด :24 เม.ย. 2566 | 07:15 น.

อาการตาแดงจากการติดเชื้อโควิด -19 เป็นอย่างไร ลักษณะแบบไหนเป็นตาแดงจากโควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 หรือ โควิดอาร์คทูรัส ต่างจากโรคตาแดงที่ระบาดในช่วงฤดูฝนอย่างไร ที่นี่มีคำตอบ

การระบาดของโควิดรอบนี้ อาการตาแดงโควิด เป็นหนึ่งในอาการที่เด่นชัดมากขึ้นกว่าการระบาดครั้งที่ผ่านมา แล้วต่างจากอาการตาแดงเพราะสาเหตุอื่นอย่างไร

การแพร่ระบาดของโควิดในช่วงนี้มาจากโควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 หรือที่เรียกกันว่า โควิดอาร์คทูรัส ที่เริ่มมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทั่วโลก และนักวิชาการคาดการณ์ว่า จะกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทย เนื่องจากมีการแพร่เชื้อได้เร็วซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นโดยอาการเด่นที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนคือ อาการตาแดง ซึ่งเราจะทราบได้อย่างไรว่า อาการตาแดงที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการติดเชื้อโควิด 

ทั้งนี้ ข้อมูลของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งได้เผยแพร่เอาไว้ก่อนหน้านี้ในหัวข้อ "ตาแดงจากการติดเชื้อโควิด-19 เป็นอย่างไร" โดยให้ข้อมูลเอาไว้เพื่อใช้สังเกตอาการด้วยตัวเอง ดังนี้ 

  1. เยื่อบุตาอักเสบ หรือบวม
  2. ตาแดง
  3. น้ำตาไหล
  4. ระคายเคืองตา
  5. คัน
  6. มีขี้ตา
  7. ตาสู้แสงไม่ได้

การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ

  • ล้างมือสม่ำเสมอ
  • ใส่หน้ากากผ้า / หน้ากากอนามัย
  • ไม่ขยี้หรือสัมผัสดวงตา
  • หากพบว่า ตัวเองมีอาการตาแดง
  • ควรแยกของใช้ส่วนตัวออกจากบุคคลอื่น

ทั้งนี้ เมื่อสังเกตพบอาการตาแดงและสงสัยว่า มีโอกาสเสี่ยงติดโรคโควิด-19 ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธี ซึ่งรักษาไม่ยาก อาจหายเองได้

อย่างไรก็ดี กรณีของการติดเชื้อโควิดนั้น นอกจากอาการตาแดงที่อาจเกิดขึ้นได้แล้วนั้น ยังมีอาการอื่นร่วมด้วย อาทิ มีไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ จมูกไม่ได้กลิ่น และ ลิ้นไม่รับรส เป็นต้น 

ในกรณีที่มีอาการโควิดอื่น ๆ แต่ยังไม่มีอาการตาแดง สามารถป้องกันไม่ให้ติดเชื้อโควิดไปยังดวงตาได้ด้วยการล้างมือสม่ำเสมอ ใส่หน้ากากอนามัย ไม่ขยี้หรือสัมผัสดวงตา หากพบว่าตัวเองมีอาการตาแดงควรแยกของใช้ส่วนตัวออกจากบุคคลอื่น

ในขณะที่ "โรคตาแดง" หรือ "โรคเยื่อบุตาอักเสบ" ที่มักพบบ่อยในช่วงฤดูฝนนั้น จะมีอาการดังนี้ 

  • ตาแดง ปวดเล็กน้อยในเบ้าตา มีน้ำตาไหล
  • คันตา เคืองตา รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในดวงตา
  • เปลือกตาบวม อาจพบตุ่มเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่วไป
  • ในกรณีติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยจะมีขี้ตามาก 

ที่มา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, โรงพยาบาลบางปะกอก สมุทรปราการ