นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับคำแนะนำแนวทางการฉีดใหม่ให้เป็นการฉีดวัคซีนโควิดประจำปี จึงขอให้ประชาชนเร่งเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ประจำปีก่อนเข้าฤดูฝนซึ่งจะเริ่มฉีดในปี 2566 เป็นปีแรก
โดยฉีดปีละ 1 เข็ม สามารถใช้วัคซีนชนิดใดหรือรุ่นใดก็ได้ โดยให้ห่างจากเข็มสุดท้ายหรือประวัติการติดเชื้ออย่างน้อย 3 เดือน และไม่ต้องนับว่าเป็นเข็มที่เท่าใด ที่สำคัญสามารถฉีดพร้อมกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยฉีดที่ต้นแขนคนละข้าง
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้มีการจัดเตรียมวัคซีนโควิด 19 ให้กับทุกกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป และได้มีการจัดหาวัคซีนรุ่นใหม่สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่อายุ 12 ปีขึ้นไปด้วย
อย่างไรก็ดี ประชาชนสามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ที่หน่วยบริการตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ เช่น สถาบันโรคผิวหนัง, สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี, สถาบันประสาทวิทยา, สถาบันโรคทรวงอก, สถาบันมะเร็งแห่งชาติ, สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูฯ, สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี, ศูนย์การแพทย์บางรัก, รพ.ราชวิถี, รพ.สงฆ์, รพ.เลิดสิน, รพ.นพรัตนราชธานี
,รพ.มหาวชิราลงกรณธัญบุรี, รพ.เมตตาประชารักษ์(วัดไร่ขิง), รพ.มะเร็งชลบุรี, รพ.มะเร็งลพบุรี, รพ.มะเร็งอุดรธานีร่วมกับรพ.ธัญญารักษ์อุดรธานี, รพ.มะเร็งอุบลราชธานี, รพ.ประสาทเชียงใหม่, รพ.ธัญญารักษ์ขอนแก่น, รพ.โรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ จ.ตรัง, รพ.ธัญญารักษ์ปัตตานี, รพ.มะเร็งสุราษฎร์ธานี และสถาบันบำราศนราดูร ในกรุงเทพมหานคร สามารถรับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุข สังกัดสำนักอนามัย และสำนักการแพทย์ กทม.
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ว่า จากรายงานสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด 19 ภายในประเทศรายสัปดาห์ พบว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 16-22 เมษายน 2566) พบผู้ป่วยรายใหม่ 1,088 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน ผู้ป่วยปอดอักเสบ 73 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 35 ราย และผู้เสียชีวิต 5 ราย เฉลี่ยน้อยกว่า 1 คนต่อวัน
อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนกว่า 2 เท่า พบกระจายในหลายจังหวัดโดยเฉพาะเมืองใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่น เช่น กรุงเทพ ฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี เป็นต้น
ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อในสมาชิกครอบครัว และการร่วมกิจกรรมที่รวมกลุ่มคนจำนวนมาก
สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 5 ราย พบว่าเป็นกลุ่ม 608 อายุเฉลี่ย 75 ปี โดย 4 รายที่เสียชีวิตเป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนมาก่อน และอีก 1 ราย ยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เมื่อติดเชื้อแล้วเกิดอาการรุนแรง
"การฉีดวัคซีนหรือวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน จึงยังมีความจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 จะช่วยลดอาการหนักและเสียชีวิตได้ ส่วนผู้ที่มีปัญหาเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกัน สามารถฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ LAAB ได้เช่นกัน"
นอกจากนี้ ควรสวมหน้ากากอนามัย หากต้องไปร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากหรือไปในที่สาธารณะ และหากติดเชื้อโควิด 19 ให้เข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาล