กรมอนามัยชี้หญิงไทย 37% มีภาวะธาลัสซีเมีย เช็ควิธีป้องกันที่นี่

08 พ.ค. 2566 | 07:10 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ค. 2566 | 07:10 น.

กรมอนามัยชี้หญิงไทย 37% มีภาวะธาลัสซีเมีย เช็ควิธีป้องกันที่นี่ หลังภาวะโลหิตจางสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ เตือนหากมีภาวะซีดหรือสงสัยว่าเป็นโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กควรพบแพทย์ทันที

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า โรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคโลหิตจางชนิดหนึ่งเกิดจากความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง ทำให้เกิดภาวะซีดหรือโลหิตจาง สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ 

นอกจากนี้ สาเหตุของภาวะซีดที่พบบ่อยเกิดจากการกินอาหารที่มีธาตเหล็กไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย การมีประจำเดือนออกมากเกินไป พบได้บ่อยในหญิงวัยรุ่นและวัยเจริญพันธุ์ 

และการตรวจพบหนอนพยาธิในร่างกาย เช่น โรคพยาธิปากขอ เพราะพยาธิปากขอดูดกินเลือดเป็นอาหาร โดยอาการของการขาดธาตุเหล็กประกอบด้วย หน้าตาซีดเซียว เยื่อบุตา ริมฝีปาก ฝ่ามือ และเล็กซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย โตช้า เรียนรู้ช้า 

ทั้งนี้ จากข้อมูล Health Data Center กระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 พบว่า หญิงตั้งครรภ์ มีภาวะโลหิตจาง 31.2% และหญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 15 ถึง 49 ปี ที่ได้รับการคัดกรองภาวะโลหิตจาง ในขณะที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ พบภาวะโลหิตจาง 37% 

ซึ่งสมัชชาอนามัยโลก Global Nutrition Targets ได้กำหนดเป้าหมาย ลดอัตราภาวะโลหิตจางของหญิงวัยเจริญพันธุ์ลงเหลือ 50% ภายในปี 2573 

กรมอนามัยชี้หญิงไทย 37% มีภาวะธาลัสซีเมีย

สำหรับการป้องกันการเกิดภาวะซีดหรือโลหิตจาง ที่นอกจากการให้ยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและกรดโฟลิกแล้ว กรมอนามัยยังแนะนำให้กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ดังนี้ 

  • เนื้อสัตว์ เนื้อแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เป็นอาหารธาตุเหล็กสูง และร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้โดยตรง 
  • เลือด ตับ เครื่องในจากสัตว์ ซึ่งเป็นแหล่งของธาตุเหล็กและสารอาหารอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโปรตีน วิตามินบี ทองแดง ซีลีเนียม 
  • อาหารทะเล เช่น หอยแครง หอยแมลงภู่ กุ้ง ปลาทูน่า 
  • ไข่แดง เป็นอาหารที่กินง่ายกินได้ทุกวัน เด็กวัยเรียนและผู้ที่ไม่มีปัญหาสุขภาพควรกินเป็นประจำ เพื่อไม่ให้ขาดธาตุเหล็ก
  • ผักใบเขียว ในผักใบเขียวหลาย ๆ ชนิด มีธาตุเหล็กสูง เช่น ผักโขม คะน้า ตำลึง ปวยเล้ง บรอกโคลี นอกจากนี้ ควรรับประทานร่วมกับผัก ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น พริกหวาน ส้ม มะละกอ สับปะรด ฝรั่ง สตรอเบอรี่ ลิ้นจี่ เงาะ จะช่วยให้การดูดซึมธาตุเหล็กดียิ่งขึ้น 
  • ไม่ควรกินอาหาร พร้อมกับนมวัว นมถั่วเหลือง เพราะแคลเซียมในนม และไฟเตทในนมถั่วเหลืองจะทำให้การดูดซึมธาตุเหล็กลดลง 

อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารเพียงอย่างเดียวอาจไม่ช่วยรักษาโรคโลหิตจางได้ หากมีภาวะซีดหรือสงสัยว่าเป็นโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก อย่าปล่อยไว้จนอาการรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุข หากจำเป็นต้องกินยาเม็ดเสริมธาตุเหล็ก ควรรับประทานอย่างต่อเนื่อง และตรวจเลือดติดตามผลตามคำแนะนำ