นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยว่า กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้ดำเนินการจัดทำแบบรายงานข้อมูลแหล่งที่มากัญชา การนำไปใช้ และจำนวนที่เก็บไว้จำหน่ายที่สถานประกอบการ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือสแกนคิวอาร์โค้ดแบบรายงานฯ บันทึกข้อมูล
รวมถึงส่งต่อผู้อนุญาตในท้องที่แต่ละจังหวัด และสำหรับส่วนกลางเขตพื้นที่ กทม.มาที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีสถานประกอบการจำหน่ายสมุนไพรควบคุม (กัญชา) ยื่นขออนุญาตเพื่อจำหน่ายหรือแปรรูป ส่งออก ศึกษาวิจัย ทั้งเขตกรุงเทพมหานคร และอีก 76 จังหวัด ทั่วประเทศ กว่า 12,000 แห่ง
โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ได้ยื่นคำขอ จำนวนกว่า 2,000 แห่ง หลังจากที่เริ่มดำเนินการได้ 3 เดือนที่ผ่านมา และให้ทางร้านแต่ละแห่งได้เตรียมตัว พบว่ามีการส่งรายงานเพียง 100 แห่งเท่านั้น จึงต้องมีการเข้มงวดในการบังคับใช้กฏหมาย
ดังนั้น เพื่อเป็นการตรวจสอบการใช้ช่อดอกกัญชาในเชิงพาณิชย์ ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการจำหน่ายสมุนไพรควบคุม (กัญชา) ทั่วประเทศ จัดทำแบบรายงานข้อมูลแหล่งที่มากัญชา การนำไปจำหน่าย และจำนวนที่เก็บไว้จำหน่าย ณ สถานประกอบการ (ตามแบบ ภท.27- ภท.32) ตามช่องทางดังกล่าวทุกสิ้นเดือน
ถ้าสถานประกอบการจำหน่ายสมุนไพรควบคุม (กัญชา) ใดไม่ให้ความร่วมมือ ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับตำรวจ และหน่วยงานทางปกครอง เพื่อบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด หากสถานประกอบการจำหน่ายสมุนไพรควบคุม (กัญชา) ใดไม่ส่งรายงานข้อมูลตามแบบที่กำหนดจะถูกพักใช้ หรือ ถูกเพิกถอนใบอนุญาตจำหน่ายกัญชา
หากถูกพักใช้ใบอนุญาตแล้ว ผู้ประกอบการยังไปจำหน่ายต่อ จะผิดกฎหมายอาญา โทษจำคุก และปรับ พร้อมถูกเพิกถอนใบอนุญาต แต่ถ้าต้องการขอใบอนุญาตใหม่ ต้องเกินระยะเวลาที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตไปแล้ว 2 ปี จึงสามารถขอใบอนุญาตประกอบการได้ใหม่
นายแพทย์ธงชัย กล่าวต่อไปอีกว่า กัญชาเหมือนสุรา และบุหรี่ ที่ต้องมีกฎหมายมาควบคุมโดยเฉพาะ จุดประสงค์หลักของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก คือ เพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ ขอเน้นย้ำถึงผู้ประกอบการจำหน่ายสมุนไพรควบคุม (กัญชา)
และผู้ปกครองที่มีบุตรหลานในความดูแลของท่าน ตามประกาศ “สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565” ข้อ 3 (3),(4) กำหนดชัดในเรื่อง ห้าม จำหน่ายแก่เด็ก และ เยาวชน ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี รวมถึงนักเรียน นิสิต นักศึกษา ซึ่งการจำหน่ายหมายความรวมถึงการขาย จ่าย แจก หรือแลกเปลี่ยน การกำกับดูแลในประเด็นนี้เป็นไปได้ว่า เด็ก และเยาวชนนำกัญชามาใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม อยู่ 2 กรณี คือ
กรณีที่ 1 คือ ได้รับการจำหน่าย จ่าย แจก ตามข้อนี้ กฎหมายสามารถเอาผิดกับผู้ที่จำหน่าย จ่าย แจกกัญชาให้เยาวชนได้ตามมาตรา 78 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือ ทั้งจำ ทั้งปรับ ถ้าเป็นสถานประกอบการจำหน่ายสมุนไพรควบคุม (กัญชา) จำหน่ายให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ก็จะถูกเพิกถอนใบอนุญาต และห้ามจำหน่ายสมุนไพรควบคุม (กัญชา) อีกด้วย
กรณีที่ 2 คือ เด็ก และ เยาวชน ปลูกกัญชาเพื่อไว้ใช้เอง กรณีนี้ ผู้ปกครองที่ดูแลบุตรหลาน ต้องมีการควบคุมดูแล เช่นเดียวกับการห้ามสูบบุหรี่ หรือ ดื่มสุรา ผู้ปกครอง หรือผู้ใกล้ชิด จึงมีบทบาทที่ต้องเข้ามาเฝ้าระวัง และให้แนวทางที่ถูกต้องแก่เด็ก และ เยาวชน เพื่อป้องกันการใช้ในทางที่ผิด
ส่วนกรณีที่มีร้านขายช่อดอกกัญชาที่อยู่ใกล้บริเวณโรงเรียนนั้น ตามประกาศฉบับนี้มีข้อห้ามการจำหน่ายให้เด็ก เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา อยู่แล้ว แต่ก็เข้าใจในข้อห่วงกังวลของสังคม เนื่องจากการจะออกกฎหมายเพื่อห้ามจำหน่ายที่ใกล้กับโรงเรียนนั้น ต้องออกเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่เคยอยู่ในการพิจารณาในสภาที่ผ่านมา เนื่องจากในรัฐธรรมนูญมาตรา 40 กำหนดไว้ว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ หากจะจำกัดเสรีภาพต้องต้องออกเป็นกฎหมายมาบังคับ
ขณะที่กรณีสุราที่มีการห้ามขายใกล้โรงเรียนนั้น ใช้ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ที่มีระดับเทียบเท่าพระราชบัญญัติไปบังคับใช้ อย่างไรก็ตามในร้านจำหน่ายที่อยู่ใกล้โรงเรียนจะถูกตรวจสอบและเข้มงวดในการส่งรายงานและจะถูกพักใช้ใบอนุญาตและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด