การที่ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลับมามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในเวลานี้ จนสถานพยาบาลต้องเตรียมพร้อมเผชิญภาวะผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลอีกครั้ง ทำให้ประชาชนพึงตระหนักว่า การ์ดที่เคยตก ต้องยกให้สูงขึ้นมาอีกแล้ว โควิดระบาดรอบใหม่ นี้ หลายกรณีพบว่า ติดง่าย หายไว อาการไม่รุนแรง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะประชาชนจำนวนมากได้ฉีดวัคซีนป้องกันตนเองไว้แล้ว ทั้งเข็มหลักและเข็มกระตุ้น แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ควรประมาท หากติดโควิดและหายป่วยแล้ว เรามี วิธีการดูแลตัวเอง อย่างไร เพื่อสุขอนามัยที่ดีของตัวเองและบุคคลรอบข้างไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงาน
“ฐานเศรษฐกิจ” รวบรวมคำถามที่มีผู้ถามบ่อยๆ เกี่ยวกับ ข้อควรปฏิบัติเมื่อหายป่วยโควิด ดังนี้
ปกติป่วยโควิด กี่วันหาย
ขึ้นอยู่อาการของแต่ละบุคคล โดยทั่วไปแล้ว หากต้องการทราบว่าหายจากโควิดหรือยัง จะดูที่อาการของผู้ป่วยเป็นหลัก โดยแพทย์จะประเมินอาการของผู้ป่วย หลังจากที่ครบกำหนดที่โรงพยาบาลหรือกระทรวงสาธารณะสุขกำหนดไว้ ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่จะกำหนดให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดกักตัวทั้งหมดเป็นระยะเวลา 10 วัน หากพบว่าไม่มีอาการที่เข้าข่ายระยะแพร่เชื้อ จะถือว่าผู้ป่วยพ่นจากระยะแพร่เชื้อและสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ
แม้ว่าผู้ป่วยบางคนอาจจะมีอาการหลงเหลือเล็กน้อย แต่อาการนั้นไม่ใช่อาการที่แสดงว่ายังมีเชื้อไวรัสอยู่ เป็นเพียงการอักเสบของอวัยวะที่ยังตกค้างอยู่ในร่างกาย และจะค่อยๆ ดีขึ้นและหายไปเองในที่สุด
ถ้าไม่มีอาการแล้ว ต้องตรวจ ATK ยืนยันอีกไหม
การตรวจหาเชื้อไวรัส หลังจากที่หายโควิดแล้วไม่มีความจำเป็น เนื่องจากการตรวจเชื้อซ้ำจะทำให้พบ “ซากเชื้อไวรัส” ที่ตกค้างในร่างกายและไม่สามารถแพร่เชื้อหรือเจริญเติบโตได้ ทำให้อาจเกิดความสับสนว่าผู้ป่วยยังไม่หายจากโควิด
ขอวิธีสังเกตอาการป่วยของตัวเองว่าอยู่ระยะไหน
โดยทั่วไปแล้วอาการป่วยติดเชื้อโควิด แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะฟักตัว และระยะแพร่เชื้อ มีรายละเอียด ดังนี้
ระยะฟักตัวของเชื้อโควิด
ระยะฟักตัวโควิด (Incubation Period) เป็นช่วงเวลาหลังจากสัมผัสผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด หรือรับเชื้อโควิดจนเริ่มมีอาการ โดยอ้างอิงตามศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (Centersfor disease control and prevention : CDC) ระยะฟักตัวโควิดมีระยะเวลาที่ประมาณ 2-14 วัน หลังจากได้รับเชื้อ ซึ่งค่าเฉลี่ยของระยะฟักตัวโควิดจะอยู่ที่ประมาณ 5 วัน อย่างไรก็ตาม มีบางกรณีที่ผู้ป่วยบางคนที่รับเชื้อโควิดมาแล้ว แต่แสดงอาการหลังจากที่ผ่านไป 14 วัน แต่คิดเป็นเพียง 1% เท่านั้น
ผู้ป่วยโควิดอาจจะมีอาการแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับแต่ละคน อาการที่สามารถพบได้บ่อย คือ
ระหว่างระยะฟักตัวของเชื้อโควิด ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ โดยที่การแพร่เชื้ออาจจะแพร่สู่บุคคลอื่นได้ 2 -3 วันก่อนที่จะมีการแสดงอาการ ทั้งนี้ ระยะฟักตัวของผู้ติดเชื้อแต่ละคนจะแตกต่างกัน ทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อได้ทันทีจะสัมผัสกับผู้ป่วย จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมควรสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ
ระยะแพร่เชื้อโควิด
ระยะแพร่เชื้อ (Infectious Period) เป็นช่วงเวลาที่ผู้ป่วยหรือผู้ที่ติดเชื้อโควิดสามารถแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นได้ โดยเชื้อไวรัสมักจะมีระยะเวลา 1 -3 วัน ก่อนแสดงอาการ ทั้งนี้ อาการของโควิด-19 มีระยะเวลาที่แตกต่าง ทำให้อาการของโรคแสดงออกไม่เท่ากัน ส่งผลให้เกิดความสับสนและระบุระยะเวลาของการแพร่เชื้อโควิด-19 ได้ยาก อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่อ้างอิงมาจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เชื้อโควิดอาจจะสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ทันที ทั้งนี้ สำหรับเชื้อไวรัสโควิด-19 ในวงการแพทย์ยังถือเป็นโรคที่ใหม่ และต้องศึกษาและวิจัยเพิ่มเติม เพื่อหาหนทางการรักษาและต่อสู้กับเชื้อไวรัสต่อไป
ผู้ป่วยโควิดต้องกักตัวกี่วันกันแน่
ผู้ที่ติดเชื้อโควิดจำเป็นต้องกักตัว เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไปสู่บุคคลอื่น เมื่อก่อนทางรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขได้มีการกำหนดว่า ผู้ที่ติดเชื้อโควิดต้องกักตัวทั้งหมด 14 วัน แต่ปัจจุบันได้มีการปรับมาตรฐานกักตัวลง ลดเหลือ 10 วัน
โดยมาตรฐานการกักตัวของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด ไม่ว่าจะเป็นการกักตัวที่สถานพยาบาล หรือกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) มีดังนี้
หายโควิดแล้วยังแพร่เชื้อได้หรือไม่
ผู้ป่วยโควิดที่รักษาตัวและกักตัวตามระยะเวลาที่กำหนด หรือ 10 วัน แล้วไม่มีอาการใดๆ ไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องการแพร่เชื้อให้กับคนรอบข้าง สามารถออกมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ เนื่องจากความเสี่ยงในการแพร่เชื้อจะค่อยๆ ลดลงเรื่อย ๆ เมื่อผ่านไปประมาณ 7-10 วัน ซึ่งนั่นก็เป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมผู้ป่วยโควิดจำเป็นต้องกักตัวเป็นระยะเวลา 10 วัน
ยังต้องระมัดระวังอะไรอีกไหม หลังหายป่วยโควิด
สำหรับผู้ที่เคยป่วยโควิด แม้ว่าจะไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องการแพร่เชื้อหลังจากรักษาหายแล้ว แต่ก็ต้องคอยสังเกตอาการตนเองว่า มีอาการผิดปกติ เช่น ผื่นแดงโควิด เหนื่อยง่าย ใจสั่น แน่นหน้าอกหายใจลำบาก ปวดตามตัว สมองไม่สดชื่น หรือ ภาวะซึมเศร้าหรือไม่ เพราะถ้าหากคุณมีอาการเหล่านี้หลังจากที่รักษาโควิดหายแล้ว อาจจะเป็นสัญญาณเตือนจากร่างกายว่า คุณกำลังเข้าข่าย "ภาวะลองโควิด" ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและเข้ารับการรักษาทันที
ทั้งนี้ ภาวะลองโควิดสามารถพบได้ถึง 30 - 50% และมักพบในผู้ป่วยโควิด-19 ที่เชื้อไวรัสลงปอด และมีโรคประจำตัว ดังนั้น สำหรับผู้เคยป่วยเป็นโควิด ควรตรวจสุขภาพหลังเป็นโควิด เพื่อเช็คว่าร่างกายของคุณได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อโควิด หรือที่เรียกว่า ภาวะลองโควิด (Long COVID) หรือไม่ เพราะภาวะลองโควิดสามารถส่งผลเสียให้กับร่างกายในระยะยาวได้
ขอบคุณข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข /โรงพยาบาลสมิติเวช /โรงพยาบาลศิครินทร์