จากกรณีที่กลุ่ม Nurses Connect โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุเกี่ยวกับปัญหาโรงพยาบาลในสังกัด กทม. บุคลากรขาดแคลนอย่างหนัก โดยใจความระบุว่า ปัญหาใหญ่ของโรงพยาบาลสังกัด กทม. บุคลากรขาดแคลนหนัก บีบให้พยาบาลขึ้นเวร 24 ชั่วโมง จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นนั้น
รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า จากกรณีดังกล่าวได้สอบข้อเท็จจริงว่า มีเหตุการณ์นี้จริงหรือไม่น้้นพบว่ามีการให้พยาบาลทำงานมากกว่าที่ควรเป็นซึ่งสำนักการแพทย์มีมาตรฐานการทำงานที่เข้มงวดมากโดยปกติจะอยู่กะติดต่อกันเพียง 2 กะ คือ 16 ชั่วโมง เหตุการณ์นี้ไม่ควรเกิดขึ้นเพราะหากพยาบาลทำงานมากเกินไปจะกระทบต่อการให้บริการประชาชนได้
"ผู้ว่าฯ ได้สั่งให้หาข้อเท็จจริงและให้หยุดให้พยาบาลทำงานเกินมาตรฐานเพราะจะส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยเราไปดูข้อเท็จจริง ซึ่งไม่แน่ใจว่าเคสที่เป็นข่าว กับเคสที่เราไปหาข้อมูลจะเป็นข้อมูลเดียวกัน หรือแยกเป็น 2 เคส ซึ่งเราก็ไปหาข้อมูลในโซนตะวันออกเพราะประชากรมีจำนวนมากจริงแต่เราก็ยังไม่ได้รู้ว่าจริงหรือไม่แต่เราก็ไปเทียบชื่อพยาบาลกับการทำงานจริงว่า เกินกี่ชั่วโมงอย่างไร
ส่วนหนึ่งยอมรับว่า ระบบของเราในการเตือนว่า พยาบาลทำงานเกินเวลาที่กำหนดซึ่งระบบพวกนี้ในวชิรพยาบาลมีระบบนี้ รพ.กลางก็มีแต่บางแห่งก็ยังไม่ได้ครอบคลุมจึงต้องแก้ไขและทำให้ตรวจสอบได้ อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่า เป็นรพ.ใดในสังกัดกทม. แต่ที่วันนี้มีตัวแทนพยาบาลจากรพ.กลางมาให้ข้อมูลซึ่งไม่ได้หมายความว่า เป็นรพ.กลาง
นอกจากนี้จากการตรวจสอบมุมหนึ่งมาจากการบริหารจัดการด้วย เช่น อัตราพยาบาล อัตราคนทำงานในรพ.สังกัดกทม.ก็ตึงตัวมาก เรามีการจ้างพยาบาลเสริมทุก รพ. เป็นจำนวนมาก จึงไม่ปฏิเสธเรื่องอัตรากำลัง พยายามบรรจุเพิ่มในทุกรพ. ในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมนี้แต่การบริหารจัดการในช่วงตึงตัว เช่น หากพยาบาลติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นพร้อมกันก็อาจเป็นไปได้ที่ต้องให้หยุดในเวลาเดียวกัน
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าเราปฏิเสธและให้คนทำงานยาวนาน ตรงนี้ต้องแก้ไขโดยจะมีการปรับระบบบริหารจัดการบุคลากรใหม่ทั้งหมดทุกรพ.เพื่อให้เห็นหน้าตักของทุกวอร์ดทุกตึกในรพ. เราต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยด้วย เช่น หากการเข้าเวรเมื่อพยาบาลเซ็นชื่อก็ต้องมีเลขนัมเบอร์พยาบาลว่า ขึ้นเวรแต่หากชั่วโมงชนกันหรือเกินมาตรฐานก็จะต้องเตือนทันทีซึ่งตรงนี้จะรีบแก้ไขโดยด่วน รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
รศ.ดร.ทวิดา กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ต้องมองว่าหากบางกรณีต้องอยู่เวรต่อเนื่องหรือแผนบริหารจัดการไม่ดี การขอให้อยู่หรือการบังคับให้อยู่ก็ไม่ควรเกิดขึ้น แม้เต็มใจอยู่ช่วยงานก็ไม่ควรเพราะการทำงานมากเกินไปย่อมส่งผลต่อการบริการ และกระทบต่อประชาชนได้
รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า เบื้องต้นไม่ทราบว่าจากที่ร้องเรียนคือจุดไหน อย่างไร แต่จากการตรวจสอบของเราพบเคสหนึ่ง หากแยกก็จะเป็น 2 เคส ซึ่งเรามองว่า เรื่องนี้น่าจะมีอีกแต่ไม่ว่าอย่างไรต้องจัดการระบบและไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ
สำหรับตำแหน่งว่างพยาบาลวิชาชีพและตำแหน่งอื่น ๆ อยู่ในระหว่างดำเนินการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครในหลักสูตรพยาบาลศาสตร์บัณฑิตจากพยาบาลเกื้อการุณย์มหาวิทยาลัยนวมินทร์ 138 ราย อยู่ระหว่างรอประกาศผลสอบเพื่ออนุญาตใบวิชาชีพการพยาบาลซึ่งเราน่าจะสามารถดึงบุคลากรบางส่วนจากตรงนี้ไปได้
ขณะเดียวกันของสังกัดสำนักการแพทย์โดยตรงซึ่งได้ดำเนินการสัมภาษณ์แล้วจะบรรจุแต่งตั้งภายใน 1 สิงหาคมนี้จะเร่งประสานว่าสามารถที่จะบรรจุแต่งตั้งเร็วกว่านั้นได้หรือไม่
อีกทั้งยังต้องดูเรื่องแผนการเกลี่ยอัตรากำลัง เนื่องจากครั้งหนึ่งมีการเปิดโรงพยาบาลใหม่จึงมีการเกลี่ยอัตรากำลังไป และหลังจากการเกลี่ยอัตรากำลังครั้งนั้นยังไม่ได้ทบทวนในจำนวนที่เพียงพอและรวดเร็ว
นอกจากนี้แม้ว่าเราจะถูกควบคุมค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น แต่โรงพยาบาลสามารถบริหารจัดการความยืดหยุ่นของเงินทุนของตัวเองในการจ้างพยาบาลห้วงเวลาเสริมได้ ฉะนั้นต้องยอมรับว่าเราบริหารจัดการได้ไม่รอบคอบพอ
ทั้งนี้ ต้องขออภัยเจ้าหน้าที่ที่ทำให้เกิดความเครียดหลังจากนี้จะมีการเร่งจัดการเรื่องอัตรากำลังโดยประสานไปยังสำนักงาน ก.ก. ในการเรียกบรรจุสำหรับบุคคลที่สอบแข่งขันได้และขึ้นบัญชีไว้ให้เร็วขึ้นหากสามารถทำได้ รองผู้ว่าฯ กล่าว
ด้านนางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า กรณีพยาบาลมีภาระงานและต้องทำงานต่อเนื่องนั้นเป็นประเด็นน่าเห็นใจในระบบงานของรพ. ซึ่งตอนนี้มีภาระงานจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม สำนักการแพทย์ให้ความสำคัญกับมาตรฐานในการดูแลประชาชนซึ่งเรามีมาตรฐานทุกแห่ง โดยได้คุยกับผู้บริหารแต่ละรพ.ว่า ต้องให้ความสำคัญของบุคลากรหากติดขัดตรงไหนให้ช่วยกันแก้ไข และเรื่องระบบก็จะมีการพัฒนาระบบการตรวจสอบ ติดตามอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น
ปัจจุบันพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์มี 2,300 คนใน 11 แห่งของทุกรพ. โดยโควต้าที่จะต้องเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 5-10% ซึ่งตามนโยบายผู้ว่าฯ ที่ต้องเน้นเรื่องการให้บริการในระดับปฐมภูมิก็จะลดความแออัดในรพ.ได้
นางสายฝน ภู่พิทยา หัวหน้าพยาบาลโรงพยาบาลกลาง กล่าวเพิ่มเติมว่า รูปแบบการบริหารอัตรากำลังของฝ่ายการพยาบาลทั้ง 11 โรงพยาบาลมีรูปแบบใกล้เคียงโดยปกติต้องไม่เกิน 16 ชั่วโมงใน 1 เวร หากเกินขึ้นมาก็จะเกลี่ยอัตรากำลังขึ้นมาอย่างบางตึกจะเกลี่ยมาซึ่งก็มีเพียงพออย่างรพ.กลางเคยเกิดขึ้นเช่นกันมีพยาบาลติดโควิดทีเดียว 6 คนก็เกลี่ยอัตรากำลัง