ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคมะเร็ง 19 ล้านคน เสียชีวิตประมาณ 9.6 ล้านคน ซึ่งอาจเป็นผลสืบเนื่องจากยาและแนวทางการรักษาที่ไม่สัมพันธ์กับผู้ป่วย ล่าสุด กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์มะเร็งแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางคลินิกสำหรับโรคมะเร็ง เพื่อศึกษาวิจัยแนวทางใช้ในการรักษา ทั้งของแพทย์ไทยและญี่ปุ่น
โดยจะเน้นการศึกษาวิจัยในเรื่องจีโนมิกส์ทางการแพทย์ ผ่านการดูความเหมาะสมของตัวยากับยีน (Gene) หรือรหัสพันธุกรรม (Genetic code) เพื่อให้ทราบถึงชนิดของมะเร็ง และวางแผนในการรักษา ป้องกันความรุนแรงและการเกิดโรคซ้ำ
นายกฯ ยินดีความร่วมมือศึกษาวิจัย
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีต่อการลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางคลินิกสำหรับโรคมะเร็ง ระหว่างกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์มะเร็งแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น
ถือว่าเป็นการทำวิจัยทางคลินิกแบบข้ามพรมแดนระหว่างประเทศครั้งแรกของโลก พร้อมส่งเสริมโครงการวิจัยทางคลินิกระหว่างประเทศ (cross-border Decentralized Clinical Trials: DCTs) เพื่อพัฒนาแนวทางที่เหมาะสมในการรักษาผู้ป่วย
“นายกรัฐมนตรีชื่นชมความร่วมมือทางการแพทย์ของทั้งสองประเทศ ในการร่วมวิจัยเพื่อการหาแนวทางการรักษาโรคมะเร็งให้เกิดความเหมาะสมไปในแต่ละบุคคล นำไปสู่การทำวิจัยทางคลินิกแบบข้ามพรมแดนระหว่างประเทศครั้งแรกของโลก โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของประชาชน เชื่อมั่นว่าเมื่อประชาชนสุขภาพดี อัตราการพัฒนาประเทศจะสูงขึ้น และลดค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ ความร่วมมือกันนี้ จะเพิ่มศักยภาพของบุคคลากรไทย พัฒนาแนวทางการรักษาผู้ป่วยในอนาคต”
รูปแบบและแนวทางการสนับสนุนร่วมกัน
สำหรับบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ได้กำหนดขอบเขตให้ศูนย์มะเร็งแห่งชาติญี่ปุ่นจัดทำและดำเนินการวิจัยทางคลินิก ขณะที่กรมการแพทย์จะจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินความร่วมมือตามบันทึกความเข้าใจฯ รวมถึงฝ่ายไทยจะออกใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะชั่วคราวให้แก่แพทย์ชาวญี่ปุ่นที่รับผิดชอบดำเนินโครงการวิจัยทางคลินิกในสองประเทศ ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นการทำวิจัยทางคลินิกแบบข้ามพรมแดนระหว่างประเทศครั้งแรกของโลก
ประโยชน์ที่ได้จากความร่วมมือ
ประโยชน์ของโครงการวิจัยทางคลินิกระหว่างประเทศครั้งนี้ ได้แก่
1. ผู้ป่วยในประเทศไทย ซึ่งมีข้อจำกัดในการเข้าร่วมการวิจัยทางคลินิก จะได้รับโอกาสเข้าร่วมการวิจัยทางคลินิกที่ดำเนินการในประเทศญี่ปุ่น
2. การวิจัยทางคลินิกในประเทศญี่ปุ่นอาจมีจำนวนผู้ป่วยมาเข้าร่วมในโครงการไม่เพียงพอ การวิจัยจะมีความเป็นไปได้มากขึ้นเมื่อมีผู้ป่วยจากประเทศไทยเข้าร่วมในโครงการ
3. การแลกเปลี่ยนข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำวิจัยทางคลินิกผ่านระบบออนไลน์ จะทำให้กระบวนการติดตามการดำเนินโครงการวิจัยในประเทศไทยเป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้น นำไปสู่การลดค่าใช้จ่ายและทรัพยากรในการทำวิจัย