นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. เปิดเผยว่า อพท.ได้ดำเนินการผลักดันประกาศให้“คลองท่อม” จ. กระบี่ เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ จะครอบคลุมบริเวณ น้ำตกร้อน สระมรกต และน้ำพุร้อนเค็ม ภายใต้แนวคิด คลองท่อมเมืองสุขภาพ หรือ Wellness โดยมองว่าอำเภอคลองท่อม มีความโดดเด่นทั้งด้านธรรมชาติ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม โดยเฉพาะที่ตำบลห้วยน้ำขาว
ซึ่งเป็นแหล่งน้ำพุร้อนเค็ม เป็นแหล่งท่องเที่ยว Unseen มีน้ำพุร้อนเค็มแห่งเดียวของประเทศไทยและเป็น 1 ใน 2 แห่งของทั่วโลก โดยอีกหนึ่งแห่งอยู่ในประเทศสาธารณรัฐเชค แถบยุโรปตะวันออก
อพท. เตรียมสรุปผลการศึกษาและนำเสนอคณะกรรมการ อพท. พิจารณาประกาศเป็นพื้นที่พิเศษฯ ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติเห็นชอบ ซึ่งคาดว่า ปลายปีนี้จะศึกษาแล้วเสร็จ และจะดำเนินการแล้วเสร็จทั้งกระบวนการในปี 2567
หลังจากนั้นจะไปสู่การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษ อำเภอคลองท่อม ที่จะต้องสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ประกอบด้วย ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล
และแผนยุทธศาสตร์ชาติ BCG Model ที่นำคุณค่าทางทรัพยากรที่มีอยู่ มายกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่ม สามารถดึงเงินลงทุนเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ต่อไป
สำหรับเป้าหมายพัฒนาพื้นที่พิเศษฯดังกล่าว นับเป็นกลไกสำคัญของการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ โดย อพท. ทำหน้าที่เป็นองค์กรในการประสานหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันพัฒนาพื้นที่คลองท่อม เพื่อบริหารจัดการพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
โดยทำคู่ขนานกับชุมชน ให้คนในท้องถิ่นได้รับประโยชน์จากแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมศักยภาพให้กับชุมชนและเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม พัฒนาความเจริญให้กับชุมชนและพื้นที่ในระยะยาว
จุดเด่นของน้ำพุร้อนเค็ม คือ มีแร่ธาตุสูงที่เป็นประโยชน์ในด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล โดยปัจจุบันสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งปัจจุบันมีภาคเอกชนเริ่มเห็นประโยชน์และนำน้ำร้อนเค็มขึ้นมาใช้ มีการลงทุนทางธุรกิจไปบ้างแล้ว แต่การลงทุนจากภาครัฐยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม
รวมทั้งการควบคุมด้านคุณภาพน้ำและปริมาณการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดนำไปสู่การเพิ่มและกระจายรายได้สู่ชุมชนในพื้นที่อย่างทั่วถึงในมิติของแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การประกาศเป็นพื้นที่พิเศษฯ
จะทำให้ อพท. เข้ามาทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางประสานกับหน่วยงานอื่นๆ อาทิ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อดำเนินการเรื่องการใช้น้ำ การใช้ประโยชน์จากที่ดิน การจัดทำผังเมือง ด้านการลงทุนประสานสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) พิจารณาจัดทำสิทธิประโยชน์เชิญชวนนักลงทุน หากดำเนินการได้ตามเป้าหมาย
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตภายหลังจากมีการประกาศพื้นที่พิเศษฯ อำเภอคลองท่อมแล้ว อพท. จะใช้ องค์ความรู้ไปถ่ายทอดให้แก่ท้องถิ่นและชุมชน ได้แก่ เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย (CBT Thailand) เพื่อยกระดับคลองท่อมเป็น Wellness City และจะเข้าไปยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดการ
และเชิญชวนผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องและมีศักยภาพเข้ามาพัฒนาพื้นที่คลองท่อม ให้เป็นมากกว่าแหล่งท่องเที่ยว แต่เป็นแหล่งฟื้นฟูและดูแลสุขภาพ รวมถึงการนำเสนอการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่แห่งนี้ เข้าสู่เวทีในระดับสากล โดยการเสนอชื่อเข้ารับการรับรองเป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก หรือ TOP 100 (Green Destinations Top 100 Stories)
ปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอำเภอคลองท่อมมีการตื่นตัว พัฒนาศักยภาพพื้นที่ของตัวเองอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 อพท. ได้นำ มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism Management Standard : STMS) ไปประเมินโดยมี 2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่ เทศบาลตำบลคลองท่อมใต้ และองค์การบริหารส่วนตำบลคลองท่อมเหนือ ซึ่งพบว่ามีการบริหารจัดการที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน และได้รับใบประการมาตรฐาน STMS ในปีงบประมณ 2565
นาวาอากาศเอก กล่าวอีกว่า จากสถิติปี 2562 จังหวัดกระบี่มีนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเกือบ 7 ล้านคนต่อปี โดยเฉลี่ยต่อปีประมาณ 4 ล้านคน และในปี 2562 จังหวัดกระบี่ ทำรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นลำดับที่ 4 ของประเทศ คิดเป็นตัวเลขประมาณ 120,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตัวเลขนักท่องเที่ยวก็ลดลงตามลำดับจากนโยบายการปิดประเทศ แต่หลังจากปลายปี 2565 ถึงปัจจุบัน นักท่องเที่ยวทยอยเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดย 5 เดือนแรกปี 2566 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจังหวัดกระบี่ ประมาณ 1.2 ล้านคน
นับว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก 1.8 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นจากนักท่องเที่ยวในประเทศ 9,000 ล้านบาท ต่างชาติ 4,000 ล้านบาท นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นตลาดสำคัญ ได้แก่ กลุ่มยุโรป และกลุ่มอาหรับ ซึ่งกลุ่มนี้ชื่นชอบโปรแกรมเพื่อดูแลสุขภาพ