บุหรี่ ถือเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่งที่มีการจำหน่ายอย่างถูกกฏหมายและแพร่หลายเป็นอย่างมาก ซึ่งถือเป็นสารเสพติดที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมาย และโทษจากการสูบบุหรี่ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้สูบเท่านั้น แต่ยังเป็นอันตรายต่อผู้ที่อยู่ใกล้กลุ่มคนที่สูบบุหรี่เช่นเดียวกัน
ข้อมูลจากองค์กรอนามัยโลก(WHO) ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากการรับควันบุหรี่มือสองมากถึงปีละ 1.2 ล้านคน และผลจากการสูดดมควันบุหรี่เข้าไปอย่างต่อเนื่องในระยะยาว พบว่าสารจากควันบุหรี่ก่อให้เกิดโรคร้ายแรงมากมาย อาทิ โรคมะเร็ง โรคปอด และโรคหัวใจ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ค่าย เลิฟ อิส เอนเตอร์เทนเมนต์ (LOVEiS ENTERTAINMENT) ได้มีการประกาศผ่านทาง TwitterX ถึงการยกเลิกและแจ้งเลื่อนงานแสดงของคุณนนท์ ธนนท์ ศิลปินจากทางค่าย เนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพเส้นเสียง ที่เกิดจากกลุ่มคนที่ฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในพื้นที่แสดง ซึ่งเป็นพื้นที่ปิด แพทย์จึงแนะนำให้พักการใช้เสียงเป็นระยะเวลา 3 - 5 วัน
โดยทาง คุณนนท์ ธนนท์ ก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านทาง TwitterX ส่วนตัวว่า “ในพื้นที่ ที่มีแต่คนบรรลุนิติภาวะเท่านั้นที่เข้าไปได้ กลับเจอการกระทำมากมายที่ดูไร้วุฒิภาวะ” พร้อมติดแฮชแท็ก #ไม่สูบบุหรี่เมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นนะครับ
จากเหตุการณ์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าพิษจากบุหรี่ไม่ได้เกิดเฉพาะกับผู้สูบเพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพ รวมถึงสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนในพื้นที่สาธารณะ และกระทบต่อการทำงานของผู้อื่นอีกด้วย
ฐานเศรษฐกิจ จะพามาให้รู้จักกับที่มาของสารนิโคตินในบุหรี่ รวมถึงความแตกต่างระหว่างบุหรี่มือสองและบุหรี่มือสาม ว่าสารพิษเหล่านี้สามารถทำให้เราเสียสุขภาพได้อย่างไร
สารนิโคติน (Nicotine)
กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้คำจำกัดความของนิโคตินไว้ว่า นิโคติน เป็นสารพวกอัลคาลอยด์(Alkaloid) ที่สามารถสกัดได้จากพืช Genus Nicotiana หลายสายพันธุ์ แต่จะพบนิโคตินมากที่สุดในสายพันธุ์ Tabacum มีลักษณะทางกายภาพเป็นของเหลวลักษณะคล้ายน้ำมัน ไม่มีสี แต่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อถูกเผาไฟ และจะมีกลิ่นคล้ายยาสูบเมื่อปล่อยทิ้งไว้ในอากาศ
ทั้งนี้พบว่าคนที่ติดสารนิโคตินส่วนใหญ่มาจากการสูบบุหรี่มากที่สุด ร่างกายเราจะดูดซึมนิโคตินได้จากทางผิวหนังและเยื่อเมือกบุผิว อาทิ ในปาก ในจมูก และการสูดดมทางปอด โดยพบว่าการสูดควันเข้าไปจะได้รับนิโคตินในปริมาณที่มากและรวดเร็วกว่าวิธีอื่น
บุหรี่มือสอง
บุหรี่มือสอง ไม่ได้เกิดจากการสูบบุหรี่เข้าไปโดยตรง หากแต่เกิดจากการที่เราสูดเอาควันบุหรี่ที่ลอยอยู่ในอากาศเข้าไป โดยศูนย์โรคปอดและโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้เผยแพร่บทความให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายจากควันบุหรี่มือสองเอาไว้ว่า ควันบุหรี่มือสอง คือควันบุหรี่ที่ผู้สูบพ่นออกมาทางลมหายใจ ผสมกับควันจากปลายมวนบุหรี่ที่กำลังเผาไหม้ และไม่ผ่านตัวกรองสารพิษใดๆ
ควันชนิดนี้ประกอบด้วยสารพิษนับร้อยชนิด ซึ่งมีจำนวนสารก่อมะเร็งราว 70 ชนิดที่สามารถปะปนอยู่ในอากาศได้นานถึง 5 ชั่วโมง โดยที่ไม่ทิ้งกลิ่นไว้
พร้อมระบุอีกว่า สารเคมีเหล่านี้ไม่ได้อยู่แค่ในควันบุหรี่ที่เราสูดดมเข้าไป แต่ยังติดอยู่บนเส้นผม เสื้อผ้าของผู้สูบ บนพรม บนของใช้ต่างๆ ได้อีกด้วย โดยจะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า บุหรี่มือสาม ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพไม่แพ้กัน
บุหรี่มือที่สาม
พ.ท.นพ.นิมิต บูรณสิงห์ อนุสาขาอายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ และอนุสาขาเวชบำบัดวิกฤต โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับบุหรี่มือสามว่า บุหรี่มือที่สาม คือ สารพิษจากควันบุหรี่ที่ดับแล้ว และมีการตกค้างอยู่ตามเส้นผม ผิวหนัง เสื้อผ้าของผู้สูบ และสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ตามสถานที่ที่มีการสูบบุหรี่
โดยจะทิ้งละอองไอสารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็งเอาไว้ และถึงควันในอากาศจะจางหายไปแล้ว แต่เราก็ยังสามารถสัมผัสกับสารพิษได้อยู่ เนื่องจากสารพิษจะตกค้างอยู่ในบริเวณเหล่านั้นได้นานกว่า 6 เดือน และแม้เราจะได้รับสารในปริมาณน้อย แต่ได้รับอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในอนาคตได้
เรียกได้ว่า อันตรายจากควันบุหรี่สามารถก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพที่นำไปสู่การเป็นโรคร้ายได้ ไม่แพ้การสูบเอาสารเคมีเข้าไปในร่างกายโดยตรงเลย ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่อาจไม่สามารถป้องกันผลกระทบที่เกิดจากควันบุหรี่ได้แบบร้อยเปอร์เซนต์ เนื่องจากเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าในบริเวณที่เราอยู่ มีสารตกค้างจากควันบุหรี่หลงเหลืออยู่หรือไม่
แต่เราสามารถป้องกันตัวเองเบื้องต้นได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการอยู่กับกลุ่มคนที่สูบบุหรี่ และไม่พาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่มีการสูบบุหรี่ หมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และหากรู้สึกว่าระบบทางเดินหายใจผิดปกติ ให้ทำการไปตรวจสมรรถภาพปอดที่โรงพยาบาล เพื่อเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที และตรวจเพื่อความสบายใจของตัวเราเองด้วย
แหล่งที่มา :
ภาพจาก TwitterX :