"มะเร็งเต้านม" พบมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของผู้หญิงไทย เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ในผู้หญิง เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ที่อยู่ภายในท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนมเซลล์เหล่านี้มีการแบ่งตัวผิดปกติไม่สามารถควบคุมได้อาจมีการแพร่กระจายไปตามทางเดินน้ำเหลืองไปสู่ต่อมน้ำเหลืองหรือแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น ๆ ได้
บางครั้งอาจไม่มีอาการและมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่จะไม่มีอาการเจ็บหรือปวด ร้อยละ 10 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มาพบแพทย์ด้วยอาการปวดเต้านม หากมีอาการเเบบนี้ควรไปพบแพทย์ทันที
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติซึ่งครอบคลุมการรักษาโรคมะเร็งแล้วก็ตามแต่การป้องกันนับเป็นนโยบายที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ให้ความสำคัญโดยเฉพาะกับโรคมะเร็งที่ป้องกันได้
สำหรับในส่วนของมะเร็งเต้านมนั้นผู้ที่มีการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม BRCA1/BRCA2 เป็นผู้มีความเสี่ยงสูง โดยมติของ บอร์ด สปสช. ได้เพิ่มบริการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม BRCA1/BRCA2 เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสำหรับคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปที่เป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูงและญาติสายตรงที่มีประวัติครอบครัวตรวจพบยีนกลายพันธุ์
ผู้ที่ได้รับสิทธิบริการ คือ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมตามเกณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูง
1.ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมเมื่ออายุไม่เกิน 45 ปี
2.ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมที่อายุ 46-50 ปี ร่วมกับ มีประวัติเคยเป็นโรคมะเร็งซ้ำหลายครั้ง หรือ มีญาติสายตรง (พ่อ แม่ พี่ น้อง หรือ บุตรของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม) อย่างน้อย 1 คน ที่มีประวัติโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งตับอ่อน หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก
3.ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมเมื่ออายุมากกว่าหรือเท่ากับ 50 ปี ร่วมกับข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
-มีประวัติญาติสายตรงอย่างน้อย 1 คน ที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมที่ได้รับการวินิจฉัยเมื่ออายุไม่เกิน 50 ปี หรือ มะเร็งเต้านมในผู้ชาย หรือ มะเร็งรังไข่ หรือ มะเร็งตับอ่อน หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก
-มีประวัติผู้ป่วยในครอบครัวอย่างน้อย 3 คนที่เป็นมะเร็งเต้านม
-มีประวัติในครอบครัวสายตรงอย่างน้อย 2 คนที่เป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก
4.ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทุกช่วงอายุ ที่เป็นมะเร็งเต้านมแบบ triple negative หรือเป็นมะเร็งเต้านมในผู้ชาย
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่า ในช่วงของแรกของการให้บริการตรวจยีน BRCA1/BRCA2 เป็นสิทธิประโยชน์ใหม่ในปี 2566 จึงทำให้มีจำนวนผู้รับบริการไม่มากนัก
ก่อนเน้นย้ำว่า บริการตรวจคัดกรองนี้เป็นสิทธิประโยขน์บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค กองทุนบัตรทอง ที่มอบให้กับคนไทยทุกคนทุกสิทธิ
ดังนั้น ผู้ที่เข้าหลักเกณฑ์บริการข้างต้น ไม่ว่าจะมีสิทธิการรักษาพยาบาลใดก็ตามก็สามารถรับบริการได้ รวมถึงหน่วยบริการที่หากพบผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงก็สามารถให้บริการกับผู้ป่วยได้เช่นกัน โดยเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายจาก สปสช. โดยตรง
ขั้นตอนหลังรับบริการตรวจคัดกรอง
กรณีผลตรวจพบว่า มีภาวะการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม BRCA1/BRCA2 สามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาพยาบาลโดยใช้สิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย ซึ่งภายใต้กองทุนบัตรทองครอบคลุมสิทธิประโยชน์ดูแล
ส่วนแนวทางของการลดความเสี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดมะเร็งเต้านมนั้น มีทั้งการผ่าตัดและการใช้ยาป้องกัน ซึ่งวิธีการผ่าตัดเต้านมทั้งสองข้างและการกินยาต้านฮอร์โมนสามารถช่วยลดความเสี่ยงได้ ทั้งนี้ ต้องให้แพทย์เป็นผู้ตรวจวินิจฉัยและให้คำแนะนำประกอบกับสภาวะจิตใจและการตัดสินใจของผู้ป่วยเอง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
1.สายด่วน สปสช. 1330
2.ช่องทางออนไลน์