PRINC ส่ง “พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ - อุบลราชธานี” ในเครือบมจ.พริ้นซิเพิล แคปิตอล เซ็น MOU ร่วมกับMonsoon Wind Power ตั้งหน่วยบริการรับส่งต่อทางการแพทย์ (Healthcare Services) ภายใต้โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมมอนซูน (Monsoon Wind Farm) เมืองดากจึง แขวงเซกอง สปป.ลาว
นพ.กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล กรรมการผู้จัดการ บมจ.พริ้นซิเพิล แคปิตอล กล่าวว่า PRINC ดำเนินธุรกิจควบคู่กับการดูแลคน ชุมชนและสังคม ภายใต้ปณิธานองค์กร “สร้างคนที่มีจิตใจของความเป็นผู้ให้” เฉกเช่นเดียวกับเป้าหมายของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม Monsoon Wind Farm ที่ร่วมสร้างการเข้าถึงพลังงานสะอาดบนฐานการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน ซึ่ง PRINC โดยโรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี
พร้อมขยายการดูแลรักษาส่งต่อไปในพื้นที่โครงการฯ ควบคู่กับการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบนิเวศด้านเฮลท์แคร์ของเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ อาทิ โครงการ “ล้มLook” ซึ่งเป็นโครงการนำร่องดูแลผู้สูงอายุพลัดตกหกล้ม และการดูแลรักษาผู้ป่วยผ่านทางไกลผ่านระบบโทรเวชกรรม หรือเทเลเมดิซีน (Telemedicine) เพื่อมีส่วนในการร่วมดูแล คน ชุมชน และสังคมในพื้นที่ห่างไกล และพร้อมแสวงหาโอกาสการเติบโตร่วมกันอย่างแน่นแฟ้นบนฐานการดำเนินธุรกิจที่ความยั่งยืนต่อไป
ด้านนพ.เศวต ศรีศิริ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันกลุ่มผู้ป่วยชาวต่างชาติที่เข้ารับบริการที่โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี มีสัดส่วนรายได้จากผู้รับบริการจาก สปป.ลาว และกัมพูชา คิดเป็นร้อยละ 30 ความร่วมมือครั้งนี้ PRINC พร้อมเชื่อมโยงโรงพยาบาลเครือข่ายในสปป.ลาว และเตรียมการระบบการขนส่งผู้ป่วยทุกช่องทางรองรับระบบส่งต่อกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ก่อนส่งเข้ามารับการรักษาการแพทย์เฉพาะทางยังโรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานีอีกด้วย
ขณะที่ นายณัฐ หุตานุวัตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท มอนซูน วินด์ พาวเวอร์ จำกัด กล่าวว่าเชื่อมั่นในโรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชั้นนำของจังหวัดและภาคอีสานตอนล่าง และพร้อมให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน แม้พื้นที่ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมจะตั้งอยู่บริเวณขอบชายแดน สปป.ลาว ติดกับฝั่งของเวียดนาม แต่การเตรียมความพร้อมในการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของบุคลากรในโครงการฯ รวมทั้งประชาชนพื้นที่โดยรอบ ล้วนเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญอย่างยิ่ง
สำหรับ Monsoon Wind Farm เป็นโครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม 600 เมกะวัตต์และส่งกระแสไฟฟ้าพลังงานสูง 500 กิโลวัตต์ บนพื้นที่ประมาณ 4 แสนไร่ ซึ่งเป็นโรงงานแห่งแรกใน สปป.ลาว และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมข้ามพรมแดนแห่งแรกในเอเชีย รวมถึงใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จในปีพ.ศ. 2568 ซึ่งมีชุมชนประมาณ 600 ครอบครัว และพนักงานกว่า 2,000 คนในช่วงก่อสร้าง ถือเป็นโครงการพลังงานทดแทนขนาดใหญ่ที่ก่อให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดในราคาที่เข้าถึงได้ และยังส่งเสริมการพัฒนาชุมชนโดยรอบในทุกมิติบนพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน