วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation: IDF) กำหนดให้เป็น วันเบาหวานโลก ซึ่งในปี พ.ศ. 2566 นี้ได้กำหนดประเด็นสาร คือ Diabetes : Know your risk, Know your response เบาหวาน รู้ว่าเสี่ยง รู้แล้วต้องเปลี่ยน มุ่งเน้นการรู้ถึงความเสี่ยงของโรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อน ให้ความสำคัญของการเข้าถึงข้อมูล ความรู้ และการดูแลที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยง
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ข้อมูลจาก IDF Diabetes Atlas ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคเบาหวานมากถึง 537 ล้านคน มากกว่า 90% เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เกือบครึ่งหนึ่งยังไม่ได้รับการวินิจฉัย
คาดว่า ภายในปี 2573 จะเพิ่มขึ้นเป็น 643 ล้านคน และภายในปี 2588 จะเพิ่มมากถึง 783 ล้านคน
ปัจจัยเสี่ยงโรคเบาหวาน
การป้องกันโรคเบาหวาน
1.การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เลือกรับประทานอาหารให้หลากหลาย เน้นผัก ผลไม้ และธัญพืชต่าง ๆ
2.ลดอาหารประเภทหวาน มัน เค็ม
3.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง
4.ทำจิตใจให้แจ่มใส
5.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน
6.ไม่สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
7.หากมีอาการปัสสาวะบ่อยและมาก กระหายน้ำ หิวน้ำบ่อย กินจุหิวบ่อย น้ำหนักลด เป็นแผลง่ายและหายยาก คันตามผิวหนัง ตามัว และชาตามปลายมือปลายเท้า ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยต่อไป
นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคเบาหวานในประเทศไทย ข้อมูลจากรายงานสถิติสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทยพบอุบัติการณ์โรคเบาหวานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2566 มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 3 แสนคนต่อปี ในปี พ.ศ. 2565 มีผู้ป่วยโรคเบาหวานสะสมจำนวน 3.3 ล้านคนเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2564 มากถึง 1.5 แสนคน
สำหรับการคัดกรองผู้ป่วยรายใหม่ในปี 2566 พบว่า การคัดกรองผู้ป่วยโรคเบาหวานในประชาชนอายุ 35 ปีขึ้นไป ยังไม่ได้รับการคัดกรองโรคเบาหวานมากถึง 5 ล้านคนจากเป้าหมายทั่วประเทศ 22 ล้านคน ดังนั้น ประชาชนที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองโรคเบาหวานปีละ 1 ครั้ง ค่าระดับน้ำตาลในเลือดควรน้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งหากตรวจพบตั้งแต่เริ่มแรกและรักษาได้เร็วจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงและอาจถึงแก่ชีวิตได้
นายแพทย์กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กล่าวว่า โรคเบาหวานเกิดจากการทํางานของฮอร์โมนผิดปกติส่งผลให้เกิดภาวะนํ้าตาลในเลือดสูง หากน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานานจะส่งผลให้อวัยวะเสื่อมสภาพเป็นเหตุให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ตา ไต หลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง
โรคเบาหวานที่พบได้บ่อยที่สุด คือ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน ในระยะแรกอาจไม่มีอาการ มักตรวจพบเมื่อเช็คสุขภาพโดยบังเอิญในผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป มีน้ำหนักเกินหรืออ้วนร่วมด้วยการดูแลป้องกันผู้ป่วยโรคเบาหวานไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทำได้โดยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี ควบคุมอาหารลดอาหารหวาน มัน เค็ม พบแพทย์สม่ำเสมอ ใช้ยาตามแพทย์สั่ง
หากมีอาการผิดปกติให้แจ้งแพทย์ที่รักษา ห้ามปรับยาเอง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หมั่นตรวจเท้าด้วยตัวเอง หากเป็นแผลควรรีบไปพบแพทย์ ไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422