13 คุณสมบัติเด่น "โอมิครอน JN.1" ที่ควรรู้ คาดเป็นสายพันธุ์หลักปี 67

19 ธ.ค. 2566 | 20:15 น.

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ เผย 13 คุณสมบัติสำคัญของ "โอมิครอน JN.1" หลังนักวิชาการคาดอาจกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่จะแพร่ระบาดทั่วโลกในปี 2567 ขณะที่รายงานล่าสุดพบคนไทยป่วยติดเชื้อโอมิครอน JN.1 แล้ว 1 ราย

ปัจจุบันการเกาะติดสถานการณ์และเฝ้าระวังไวรัสโคโรนา 2019 ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า โควิดสายพันธุ์โอมิครอน BA.2.86 หรือ มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า "พิโรลา" ขึ้นชื่อความสามารถในการจับกับผิวเซลล์ปอดของผู้ติดเชื้อได้ดีที่สุดแต่ยังหลบหนีภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ได้ไม่ดีนักเมื่อเทียบกับโอมิครอนที่ระบาดมาก่อนหน้า เช่น EG.5.1 และ HK.3 อย่างมีนัยสำคัญ

ทำให้ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกกังวลว่า BA.2.86 อาจมีการกลายพันธุ์เพื่อหลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้น โดยพบมีการซุ่มตัวแพร่เชื้อในระดับต่ำ ๆ มาหลายเดือนแล้ว ความกังวลดังกล่าวเป็นจริงเมื่อโอมิครอนสายพันธุ์ JN.1 (B.1.1.529.2.86.1.1) ได้อุบัติขึ้น

สำหรับประเทศไทยเพิ่งพบโอมิครอน JN.1 (รุ่นลูกของโอมิครอน BA.2.86) จำนวน 1 ราย เมื่อ 28 ตุลาคม 2566 โดยมีการแชร์รหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมที่แยกได้จากผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ ไว้บนฐานข้อมูลโควิดโลกจีเสส (GISAID) คาดว่า ต้นปีหน้าอาจแพร่เป็นสายพันธุ์หลักเหมือนประเทศอื่น

13 คุณสมบัติเด่น \"โอมิครอน JN.1\" ที่ควรรู้ คาดเป็นสายพันธุ์หลักปี 67

ทั้งนี้ เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักรู้พร้อมระมัดระวังและดูแลสุขภาพตัวเอง ล่าสุดทาง ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ได้เปิดเผยคุณสมบัติสำคัญของโอมิครอน JN.1 ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

13 คุณสมบัติสำคัญของโอมิครอน JN.1 

1.คุณสมบัติการหลบหนีระบบภูมิคุ้มกันของโอมิครอนสายพันธุ์ JN.1 อาจทำให้มีการติดเชื้อซ้ำในกลุ่มประชากรเพิ่มขึ้นอย่างมาก

2.ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ทางวิทยาศาสตร์ที่บ่งชี้ว่า โอมิครอนสายพันธุ์ JN.1 จะเป็นภัยคุกคามต่อระบบสาธารณสุขมากกว่าโอมิครอนสายพันธุ์อื่น ๆ ที่มีการหมุนเวียนติดต่อทั่วโลกอยู่ในขณะนี้

3.บุคคลที่มีความเสี่ยงสูง

  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • บุคคลที่มีโรคร่วมอื่น ๆ ที่รุนแรง

สามารถป้องกันตนเองได้ด้วยวิธีที่ทดสอบแล้วว่า มีประสิทธิภาพ เช่น การสวมหน้ากากอนามัย

4.คุณสมบัติการหลบหนีระบบภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้นของโอมิครอนสายพันธุ์ JN.1 เมื่อเทียบกับรุ่นพ่อแม่โอมิครอน BA.2.86 อาจทำให้สามารถแข่งขันกับสายพันธุ์อื่น ๆ ได้และกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกในปี 2567

5.องค์การอนามัยโลกกังวล (WHO) ว่า การถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของไวรัสโคโรนา 2019 ทั่วโลกมีจำนวนลดลงอย่างมากอันอาจทำให้เราระบุจำนวนโอมิครอนสายพันธุ์ที่กำลังอุบัติขึ้นในขณะนี้ เช่น JN.1, XDD คลาดเคลื่อน ส่งผลให้การวางแผนการป้องกันและการรักษาผิดพลาดได้

6.องค์การอนามัยโลกยังคงประเมินสถานการณ์เกี่ยวกับสายพันธุ์ย่อยของ SARS-CoV-2 เช่น JN.1, XDD อย่างต่อเนื่อง

7.ในขณะนี้ความเสี่ยงทางสาธารณสุขที่คาดว่า จะเกิดจากโอมิครอนสายพันธุ์ JN.1 ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำสำหรับการเกิดเป็นโรครุนแรงเมื่อเทียบกับโอมิครอนสายพันธุ์อื่น ๆ

8.โอมิครอนสายพันธุ์ JN.1 มีการแพร่กระจายที่มากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ที่มีการหมุนเวียนทั่วโลกในปัจจุบันแต่ประเมินว่า ไม่น่าจะถึงระดับของการระบาดครั้งแรกของโควิด-19 หรือการระบาดของโอมิครอนครั้งแรก

9.สัดส่วนของผู้ป่วยที่เกิดจากการติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ JN.1 กำลังเพิ่มขึ้นแต่ไม่ปรากฏว่า มีผู้ติดเชื้อเจ็บป่วยหนักต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

10.ยังไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า สายพันธุ์โอมิครอน JN.1 จะก่อให้เกิดโรคที่รุนแรงขึ้น

11.การแพร่ติดต่ออย่างรวดเร็วของโอมิครอนสายพันธุ์ JN.1 เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่น ๆ ทำให้เกิดคำถามว่า มันอาจขับเคลื่อนให้เกิดการเพิ่มขึ้นของการติดเชื้อไปทั่วโลก

12.วัคซีนโควิด-19 เจนเนอเรชันล่าสุด "XBB.1.5 โมโนวาเลนต์" จากการทดสอบทั้งในสัตว์และทั้งในอาสาสมัคร พบว่า ป้องกันการติดเชื้อจากโอมิครอนสายพันธุ์ JN.1 ได้ดี

13.การทดสอบทางห้องปฏิบัติการด้วย ATK, PCR และการรักษาโควิด-19 ด้วยยาต้านไวรัสยังมีประสิทธิภาพต่อโอมิครอนสายพันธุ์ JN.1

ทั้งนี้ โอมิครอน JN.1 เป็นรุ่นลูกของโอมิครอน BA.2.86 ซึ่งบนส่วนหนามมีการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นหนึ่งตำแหน่ง คือ "L455S" ส่งผลให้ความสามารถในการจับกับผิวเซลล์ลดลงบ้างแต่ความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันกลับดีกว่าโอมิครอน BA.2.86 ทำให้ในปัจจุบันกลายเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดโดดเด่นในฝรั่งเศสอย่างรวดเร็ว

ความสามารถในการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของโอมิครอน JN.1 ทำให้ทั้งองค์การอนามัยโลก, กรมควบคุมโรคสหรัฐฯ, อังกฤษ, อินเดีย, สิงคโปร์ ออกมาเตือนประชาชนกลุ่มเปราะบางให้เข้ามารับการฉีดวัคซีน

ขณะที่รัฐบาลอินเดียแนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อโอมิครอน JN.1 โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง โดยให้ปฏิบัติมาตรการป้องกันอื่นๆร่วมด้วย เช่น กินร้อน ช้อนกลาง เว้นระยะห่างทางสังคม