ตามนโยบาย บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ของรัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ขับเคลื่อนพร้อมเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2567 ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเบื้องต้นเป็นการนำร่องใน 4 จังหวัดก่อน เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการเชื่อมโยงข้อมูลของเครือข่ายต่าง ๆ ในพื้นที่
เป้าหมายคือการทำให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง หรือบัตร 30 บาท สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น เพียงแค่ใช้บัตรประชาชนใบเดียวก็จะสามารถรับบริการสาธารณสุขได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วม คลินิกเอกชน ร้านยา คลินิกเทคนิคการแพทย์ คลินิกการพยาบาล คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกทันตกรรมที่อยู่ใกล้บ้านและเข้าร่วมในระบบกับ สปสช.ได้ทั้งหมด โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ล่าสุด สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ชวนประชาชนกรณีที่มีอาการเจ็บป่วย สามารถใช้ "บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่" ที่หน่วยบริการทุกแห่งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้แล้ว ยังสามารถเข้ารับบริการได้ที่ สถานพยาบาลเอกชนต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการได้อีกด้วย
ไม่ว่าจะเป็น ร้านยา คลินิกการพยาบาลฯ คลินิกเวชกรรม คลินิกเทคนิคการแพทย์ คลินิกทันตกรรม และคลินิกแพทย์แผนไทย ที่ได้ขึ้นทะเบียนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยปัจจุบันมีหน่วยบริการเอกชนเข้าร่วมโครงการเพื่อให้บริการกับประชาชนแล้วรวม 757 แห่งในพื้นที่ 12 จังหวัด ดังนี้
1.จังหวัดแพร่
2.จังหวัดเพชรบุรี
3.จังหวัดร้อยเอ็ด
4.จังหวัดนราธิวาส
5.จังหวัดนครราชสีมา
6.จังหวัดนครสวรรค์
7.จังหวัดพังงา
8.จังหวัดเพชรบูรณ์
9.จังหวัดสระแก้ว
10.จังหวัดสิงห์บุรี
11.จังหวัดหนองบัวลำภู
12.จังหวัดอำนาจเจริญ