ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร ได้ทำการสรุปผลการตรวจวัดค่าฝุ่น PM 2.5 วันนี้ (17 ก.พ. 67) เวลา 05.00 - 07.00 น. พบว่า ณ เวลา 07.00 น. สามารถตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ได้ในช่วง 20.7 - 42.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แม้จะมีแนวโน้มที่ลดลงกว่าในช่วงเวลาเดียวกันของเมื่อวาน (16 ก.พ. 67) แต่ถือว่ายังคงเกินมาตรฐาน อีกทั้งยังพบบริเวณที่ถูกจัดอยู่ในพื้นที่ระดับสีส้มหรือระดับที่เริ่มเสี่ยงต่อสุขภาพหลายพื้นที่
จากการคาดการณ์แนวโน้มสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อฝุ่น PM2.5 โดยสภาพทางอุตุนิยมวิทยา พบปัจจัยที่เกี่ยวข้อง 2 กรณี ได้แก่
- ในช่วงวันที่ 17 - 25 ก.พ. 67 การระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี อากาศใกล้ผิวพื้นมีลักษณะค่อนข้างเปิดสลับปิด และมีโอกาสเกิดฝนช่วงสุดสัปดาห์ ส่งผลให้ค่าฝุ่นละอองมีแนวโน้มลดลง และจากการคาดการณ์วันนี้ (17 ก.พ. 67) จะมีหมอกในตอนเช้า และมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง
- จากการตรวจสอบข้อมูลจุดความร้อน (Hotspot) ผ่านดาวเทียม จากหน่วยงาน NASA พบจุดความร้อนที่ดาวเทียมตรวจพบค่าความร้อนสูงผิดปกติ จากค่าความร้อนบนผิวโลกบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 จำนวน 2 จุด บริเวณแขวงหนองจอก เขตหนองจอก โดยขณะนี้ เพลิงไหม้สงบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
15 พื้นที่ ตรวจพบ PM 2.5 ระดับสีส้ม ณ วันที่ 17 ก.พ. 67 (เวลา 10.00 - 11.00 น.)
- เขตคลองสาน : บริเวณหน้าห้องสมุดใต้สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน
- เขตสามวา : ภายในสำนักงานเขตคลองสามวา
- เขตจตุจักร : บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- เขตบางกอกน้อย : บริเวณหน้าสถานีตำรวจรถไฟบางกอกน้อย
- เขตบางกอกใหญ่ : บริเวณสี่แยกท่าพระ แขวงวัดท่าพระ
- เขตบางพลัด : ภายในสำนักงานเขตบางพลัด
- เขตบางรัก : ข้างป้อมตำรวจหน้าลานบางรักเลิฟลี่ พลาซ่า
- เขตบึงกุ่ม : ภายในสำนักงานเขตบึงกุ่ม
- เขตปทุมวัน : หน้าห้างสามย่านมิตรทาวน์
- เขตประเวศ : ด้านหน้าห้างสรรพสินค้าซีคอน สแควร์
- เขตสายไหม : ป้ายรถเมล์ด้านหน้าสำนักงานเขตสายไหม
- เขตหนองจอก : บริเวณหน้าสำนักงานเขตหนองจอก
- สวนทวีวนารมย์ เขตทวีวัฒนา : ถนนเลียบคลองทวีวัฒนา แขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา
- สวนรมณีย์ทุ่งสีกัน เขตดอนเมือง : ถนนเวฬุวนาราม แขวงทุ่งสีกัน เขตดอนเมือง
- เขตดินแดง (สถานี คพ.) : การเคหะชุมชนดินแดง ริมถนนดินแดง เขตดินแดง, กรุงเทพฯ
ข้อแนะนำในการป้องกันและดูแลสุขภาพ (โดยสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร)
- ประชาชนทั่วไป : ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน PM 2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร รวมถึงจำกัดระยะเวลาในการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก พร้อมกับสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา
- ประชาชนกลุ่มเสี่ยง : ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร และหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก รวมถึงให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หากพบอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์
ขอบคุณที่มา : BMA กรุงเทพมหานคร , สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร