บุหรี่ - PM 2.5 ต้นเหตุ “มะเร็งปอด” ทำคนไทยเสียชีวิต 40 คน/วัน

19 เม.ย. 2567 | 09:30 น.
อัปเดตล่าสุด :19 เม.ย. 2567 | 09:31 น.

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เตือน “มะเร็งปอด” พบบ่อยในคนไทย 1.7 หมื่นคนต่อปี เสียชีวิต 40 คนต่อวัน ระบุปัจจัยเสี่ยง บุหรี่ แร่ใยหิน และฝุ่น PM 2.5

นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดทั่วโลก จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก ปี 2565 ทั่วโลกพบผู้ป่วยรายใหม่ 2.48 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิต 1.81 ล้านราย 

สำหรับประเทศไทยโรคมะเร็งปอดถือเป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อย ซึ่งพบมากเป็นอันดับ 2 ในเพศชาย และอันดับ 4 ในเพศหญิง แต่ละปีจะมีผู้ป่วยมะเร็งปอดรายใหม่ประมาณ 1.7 หมื่นราย เป็นเพศชาย 1 หมื่นราย และเพศหญิง 6,456 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 1.45 หมื่นราย หรือคิดเป็น 40 รายต่อวัน

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคมะเร็งปอดคือการสัมผัสสารก่อมะเร็งมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การสูบบุหรี่หรือการได้รับควันบุหรี่มือสอง การสัมผัสแร่ใยหิน การได้รับมลภาวะทางอากาศ รวมทั้งฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น 

บุหรี่ - PM 2.5  ต้นเหตุ “มะเร็งปอด” ทำคนไทยเสียชีวิต 40 คน/วัน

ว่าที่ร้อยตำรวจโทหญิงนภา ศิริวิวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดระยะแรกมักจะไม่มีอาการ แต่เมื่อโรคดำเนินไปมากขึ้นก็จะเริ่มมีอาการแต่มักไม่มีอาการจำเพาะจึงอาจทำให้เกิดการวินิจฉัยที่ล่าช้า ระยะของโรคจึงอาจลุกลามหรือแพร่กระจายไปมาก ส่งผลให้การรักษาได้ผลไม่ดีเท่าที่ควรและมีโอกาสการรักษาหายจากโรคน้อย 

โดยทั่วไปมะเร็งปอดมีสัญญาณเตือน เช่น อาการไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะปนเลือด หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ มีเสียงหวีด เจ็บหน้าอก ปอดติดเชื้อบ่อย เหนื่อยง่ายเรื้อรัง เป็นต้น หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ผู้ป่วยควรรีบปรึกษาแพทย์ สำหรับการรักษามีวิธีหลัก ๆ ได้แก่ การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี ซึ่งแพทย์จะพิจารณาจากระยะของโรค ตำแหน่งของก้อนมะเร็ง และการกระจายตัว รวมถึงสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย 

มะเร็งปอดสามารถป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น ตลอดจนสวมหน้ากากป้องกันที่มีประสิทธิภาพขณะปฏิบัติงาน หรือขณะอยู่นอกอาคาร/บริเวณที่มีมลพิษสูง ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดที่มีประสิทธิภาพในระดับประชากร แต่มีคำแนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งปอดเข้ารับการตรวจคัดกรองโดยการเอกซเรย์ปอดเป็นประจำทุกปี